เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [10. ยักขสังยุต] 3. สูจิโลมสูตร

สูจิโลมยักษ์จึงทูลถามด้วยคาถานี้ว่า
ราคะและโทสะมีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี1ความยินดี2
และความขนพองสยองเกล้า3 เกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร
ย่อมผูกจิตไว้ได้เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกจิตไว้เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
อกุศลวิตกเป็นอันมาก
เกิดจากความเยื่อใยคือตัณหา
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น
ชนเหล่าใดรู้อัตภาพนั้นว่าเกิดจากสิ่งใด
ชนเหล่านั้นย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้
ยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้ามห้วงแห่งกิเลสนี้
ซึ่งข้ามได้ยาก อันตนไม่เคยข้ามเพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป4

สูจิโลมสูตรที่ 3 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [10. ยักขสังยุต] 4. มณิภัททสูตร

4. มณิภัททสูตร
ว่าด้วยมณิภัททยักษ์

[238] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เจดีย์ชื่อมณิมาฬกะ อันเป็น
ภพของมณิภัททยักษ์ ในแคว้นมคธ ครั้งนั้น มณิภัททยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ
คนมีสติย่อมได้รับความสุข
ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์
และคนมีสติย่อมหลุดพ้นจากเวร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ
คนมีสติย่อมได้รับความสุข
ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์
แต่คนมีสติยังไม่หลุดพ้นจากเวร
ส่วนผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดทั้งวันและคืน
และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์
ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใคร ๆ

มณิภัททสูตรที่ 4 จบ