เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [10. ยักขสังยุต] 3. สูจิโลมสูตร

3. สูจิโลมสูตร
ว่าด้วยสูจิโลมยักษ์

[237] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนเตียงชนิดมีเท้าตรึงติดกับ
แม่แคร่ อันเป็นภพของสูจิโลมยักษ์ ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น ขรยักษ์และสูจิโลมยักษ์
เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น ขรยักษ์ได้พูดกับสูจิโลมยักษ์ดังนี้ว่า “นั่นสมณะ”
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “นั่นไม่ใช่สมณะ นั่นเป็นสมณะน้อย แต่จะเป็นสมณะ
หรือสมณะน้อย เราพอจะรู้ได้”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ได้เข้าไป
เหนี่ยวพระวรกายของพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงถอยพระวรกายไปเล็กน้อย
ต่อจากนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านกลัวเราไหม
สมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ เราไม่กลัวท่านหรอก แต่สัมผัสของ
ท่านหยาบกร้าน”
สูจิโลมยักษ์ทูลถามว่า “สมณะ เราจักถามปัญหากับท่าน ถ้าท่านไม่พยากรณ์
ตอบแก่เรา เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน จักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับ
ที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ เราไม่เห็นใครเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ที่จะพึงทำจิตของเราให้พลุ่งพล่าน ฉีกหัวใจของเรา หรือจับเราที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยัง
ฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้นได้ เชิญท่านถามตามที่ท่านต้องการเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :339 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [10. ยักขสังยุต] 3. สูจิโลมสูตร

สูจิโลมยักษ์จึงทูลถามด้วยคาถานี้ว่า
ราคะและโทสะมีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี1ความยินดี2
และความขนพองสยองเกล้า3 เกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร
ย่อมผูกจิตไว้ได้เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกจิตไว้เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
อกุศลวิตกเป็นอันมาก
เกิดจากความเยื่อใยคือตัณหา
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น
ชนเหล่าใดรู้อัตภาพนั้นว่าเกิดจากสิ่งใด
ชนเหล่านั้นย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้
ยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้ามห้วงแห่งกิเลสนี้
ซึ่งข้ามได้ยาก อันตนไม่เคยข้ามเพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป4

สูจิโลมสูตรที่ 3 จบ