เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [9. วนสังยุต] 13. ปากตินทริยสูตร

ในกาลก่อน พวกภิกษุสาวกของพระโคดม
เป็นอยู่เรียบง่าย ไม่มักมากการแสวงหาบิณฑบาต
ไม่มักมากแสวงหาที่นอนที่นั่ง
ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยง
จึงกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ส่วนท่านเหล่านี้ทำตนเป็นคนเลี้ยงยาก
กิน ๆ แล้วก็นอน เหมือนคนที่โกงชาวบ้าน
หมกมุ่นอยู่ในเรือนของคนอื่น
ข้าพเจ้าทำอัญชลีต่อสงฆ์แล้ว
ขอพูดกับท่านบางพวกในที่นี้ว่า
พวกท่านถูกเขาทอดทิ้งแล้ว เป็นคนอนาถาเหมือนเปรต
ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาบุคคลพวกที่ประมาทอยู่
ส่วนท่านเหล่าใดไม่ประมาท
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านเหล่านั้น1
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นถูกเทวดานั้นทำให้สลดใจ เกิดความสลดใจแล้ว

ปากตินทริยสูตรที่ 13 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [9. วนสังยุต] 14. ปทุมปุปผสูตร

14. ปทุมปุปผสูตร
ว่าด้วยดอกบัว

[234] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ ณ ราวป่าแห่งหนึ่ง แคว้นโกศล สมัยนั้น
ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ลงสู่สระโบกขรณี
สูดดมกลิ่นดอกบัว ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในราวป่านั้น มีความอนุเคราะห์หวังดี
ต่อภิกษุนั้น ประสงค์จะให้ภิกษุนั้นสลดใจ จึงเข้าไปหาภิกษุนั้นถึงที่อยู่แล้วได้กล่าว
กับภิกษุนั้นด้วยคาถาว่า
ท่านสูดดมกลิ่นดอกบัว
ที่เกิดในน้ำ ซึ่งใคร ๆ ไม่ได้ถวายแล้ว
นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น
ภิกษุนั้นได้กล่าวด้วยคาถาว่า
เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก
เราเพียงแต่ดมกลิ่นดอกบัวที่เกิดในน้ำห่าง ๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะเรียกเราว่า
เป็นผู้ขโมยกลิ่น ด้วยเหตุอะไรเล่า
ส่วนบุคคลที่ขุดเหง้าบัว หักดอกบัวปุณฑริก
เป็นผู้มีการงานอันไม่บริสุทธิ์อย่างนี้
ทำไมท่านจึงไม่เรียกเขาว่าเป็นขโมยเล่า
เทวดากล่าวด้วยคาถาว่า
บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วยกิเลส
มีราคะเป็นต้นเกินเหตุ
เราไม่พูดถึงคนนั้น แต่เราควรจะกล่าวกับท่าน
บาปประมาณเท่าปลายขนเนื้อทราย
ย่อมปรากฏประดุจเท่าก้อนเมฆในนภากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :335 }