เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [7. พราหมณสังยุต]
2. อุปาสกวรรค 7. นวกัมมิกสูตร

7. นวกัมมิกสูตร
ว่าด้วยนวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์

[203] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าแห่งหนึ่ง แคว้น
โกศล สมัยนั้น นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ให้คนทำงานอยู่ในราวป่านั้น เขาได้เห็น
พระผู้มีพระภาคซึ่งประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ที่โคนไม้สาละแห่งหนึ่ง ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราให้คนทำงานอยู่ในราวป่าจึงยินดี
ส่วนพระสมณะนี้ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี”
ลำดับนั้น นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ภิกษุ ท่านทำงานอะไร จึงอยู่ในป่าไม้สาละ
พระโคดมอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ได้ความยินดีอะไรหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราไม่ได้ทำงานอะไรในป่าหรอก
ป่าคือกิเลสอันเป็นข้าศึกถูกเราถอนรากเหง้าหมดแล้ว
เราไม่มีป่าคือกิเลส ปราศจากลูกศรคือกิเลส
ละความไม่ยินดี ยินดีอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

นวกัมมิกสูตรที่ 7 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [7. พราหมณสังยุต]
2. อุปาสกวรรค 8. กัฏฐหารสูตร

8. กัฏฐหารสูตร
ว่าด้วยคนหาฟืน

[204] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าแห่งหนึ่ง แคว้น
โกศล สมัยนั้น มาณพหลายคนซึ่งเป็นศิษย์ของพราหมณ์ภารทวาชโคตรคนหนึ่ง
เป็นคนหาฟืน พากันเข้าไปยังราวป่านั้นแล้วได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า อยู่ในราวป่านั้น จึงเข้าไปหาพราหมณ์-
ภารทวาชโคตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับพราหมณ์ภารทวาชโคตรดังนี้ว่า “ขอท่าน
พึงทราบ พระสมณโคดมประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
อยู่ในราวป่า”
ลำดับนั้น พราหมณ์ภารทวาชโคตรพร้อมด้วยมาณพเหล่านั้นเข้าไปยังราวป่า
นั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้
เฉพาะหน้าเช่นนั้นจริง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูลด้วย
คาถาว่า
ภิกษุ ท่านเข้าไปสู่ป่าที่ว่างเปล่าปราศจากคน
ในป่าหนาทึบน่าหวาดเสียวนัก มีกายไม่ไหวหวั่น
มีประโยชน์อันงาม เพ่งพินิจอย่างดีหนอ
ท่านเป็นมุนีอาศัยป่า อยู่ในป่าแต่ผู้เดียว
ซึ่งไม่มีเสียงขับร้อง และเสียงบรรเลง
การที่ท่านมีใจยินดี อยู่ในป่าแต่ผู้เดียวนี้
ปรากฏเป็นข้อน่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าปรารถนาไตรทิพย์อันยอดเยี่ยม1
จึงอยากเป็นสหายกับท้าวมหาพรหมผู้เป็นอธิบดีของโลก
เหตุไรท่านจึงชอบใจป่าที่ปราศจากคน
ท่านทำความเพียรอยู่ที่นี้เพื่อจะบังเกิดเป็นพรหมหรือ