เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [7. พราหมณสังยุต]
2. อุปาสกวรรค 5. มานัตถัทธสูตร

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับมานัตถัทธพราหมณ์ว่า “พอละ พราหมณ์
เชิญลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งของตนเถิด เพราะท่านมีจิตเลื่อมใสในเราแล้ว”
ลำดับนั้น มานัตถัทธพราหมณ์นั่งบนที่นั่งของตนแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลไม่ควรทำมานะในใคร
ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรงในใคร
บูชาใครด้วยดีแล้วจึงจะเป็นการดี
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลไม่ควรทำมานะในมารดา
บิดา พี่ชาย และในอาจารย์เป็นที่ 4
พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น
พึงยำเกรงในบุคคลเหล่านั้น
บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้วจึงเป็นการดี
บุคคลพึงทำลายมานะ
ไม่ควรกระด้าง พึงนอบน้อมพระอรหันต์ ผู้เยือกเย็น
ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่านั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มานัตถัทธพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระ
โคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”

มานัตถัทธสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [7. พราหมณสังยุต]
2. อุปาสกวรรค 6. ปัจจนีกสูตร

6. ปัจจนีกสูตร
ว่าด้วยปัจจนีกสาตพราหมณ์

[202] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อปัจจนีกสาตะ พำนัก
อยู่ในกรุงสาวัตถี ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ทางที่ดีเราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่
ประทับเถิด พระสมณโคดมจักตรัสคำใด ๆ เราก็จักคัดค้านคำนั้น ๆ”
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้ง ลำดับนั้น ปัจจนีกสาต-
พราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เดินตามพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลัง
เสด็จจงกรมอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระองค์จงตรัสสมณธรรมเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้ตั้งใจจะคัดค้าน มีจิตเศร้าหมอง
มากไปด้วยความแข่งดี จะไม่รู้ชัดคำสุภาษิต
ส่วนบุคคลใดกำจัดความแข่งดี ความไม่มีจิตเลื่อมใส
และถอนความอาฆาตออกแล้วฟังอยู่
บุคคลนั้นจึงจะรู้คำสุภาษิตได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปัจจนีกสาตพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

ปัจจนีกสูตรที่ 6 จบ