เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [7. พราหมณสังยุต]
2. อุปาสกวรรค 4. มหาสาลสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระอาการประชวร ต่อมาเทวหิต-
พราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลพึงให้ไทยธรรม ณ ที่ไหน
ทานที่บุคคลให้ ณ ที่ไหน มีผลมาก
ทักษิณาสำเร็จผลอย่างไรแก่บุคคลผู้บูชาอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มุนีผู้บรรลุอภิญญา คือรู้ปุพเพนิวาสญาณอย่างแจ่มแจ้ง
เห็นสวรรค์และอบาย ทั้งบรรลุความสิ้นชาติ1แล้ว
บุคคลพึงให้ไทยธรรมในมุนีนี้ ทานที่ให้แล้วในมุนีนี้มีผลมาก
ทักษิณาสำเร็จผลอย่างนี้แก่บุคคลผู้บูชาอย่างนี้แล
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เทวหิตพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระโคดมผู้
เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เทวหิตสูตรที่ 3 จบ

4. มหาสาลสูตร
ว่าด้วยพราหมณมหาศาล

[200] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พราหมณมหาศาลคนหนึ่ง เป็นผู้เศร้าหมอง นุ่งผ้าเศร้าหมอง เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพราหมณมหาศาลนั้น
ดังนี้ว่า “พราหมณ์ ทำไมท่านจึงดูเศร้าหมอง นุ่งห่มก็เศร้าหมอง”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [7. พราหมณสังยุต]
2. อุปาสกวรรค 4. มหาสาลสูตร

พราหมณมหาศาลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุตรของข้าพระองค์
4 คนในบ้านนี้ คบคิดกับภรรยาแล้วขับข้าพระองค์ออกจากเรือน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเรียนคาถานี้ เมื่อหมู่
มหาชนประชุมกันที่สภา และเมื่อพวกบุตรมาประชุมกันพร้อมแล้ว จงกล่าวว่า
เราหลงชื่นชมและปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด
บุตรเหล่านั้นคบคิดกับภรรยารุมว่าเรา ดุจสุนัขรุมเห่าสุกร
ได้ยินว่า บุตรเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษผู้ลามก
ร้องเรียกเราว่าพ่อ ๆ
บุตรเหล่านั้นเหมือนยักษ์แปลงร่างมาเกิดเป็นบุตร
ละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยไว้
บุตรเหล่านั้นกำจัดคนแก่ผู้ไม่มีสมบัติ
ออกจากที่อาศัยหากิน ดุจม้าแก่ที่เจ้าของปล่อยทิ้ง ฉะนั้น
บิดาของบุตรผู้เป็นพาล เป็นผู้เฒ่า ต้องขอเขากินในเรือนผู้อื่น
ว่ากันว่า ไม้เท้าของเรายังดีกว่า
พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟังจะดีอะไร
เพราะไม้เท้าใช้ป้องกันโคหรือสุนัขดุ ๆ ได้
ในที่มืดใช้ยันไปข้างหน้าได้ ในที่ลึกใช้หยั่งควานเอาได้
พลาดแล้วช่วยพยุงไว้ได้ด้วยอานุภาพไม้เท้า
ครั้งนั้น พราหมณมหาศาลนั้นเรียนคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว
เมื่อหมู่มหาชนประชุมกันที่สภา และเมื่อพวกบุตรมาประชุมกันพร้อมแล้ว จึงได้
กล่าวว่า
เราหลงชื่นชมและปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด
บุตรเหล่านั้นคบคิดกับภรรยารุมว่าเรา ดุจสุนัขรุมเห่าสุกร
ได้ยินว่า บุตรเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษผู้ลามก
ร้องเรียกเราว่าพ่อ ๆ
บุตรเหล่านั้นเหมือนยักษ์แปลงร่างมาเกิดเป็นบุตร
ละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :289 }