เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [6. พรหมสังยุต]
2. ทุติยวรรค 3. อันธกวินทสูตร

ถ้าภิกษุไม่ประสบความยินดีในที่นั้น
พึงมีสติ มีปัญญาเครื่องบริหาร อยู่ในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุเมื่อเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตระกูล
พึงมีปัญญาเครื่องบริหาร คุ้มครองอินทรีย์
พึงอาศัยที่นอนที่นั่งอันสงัด
พ้นจากภัย1 น้อมไปในอภัย2
ภิกษุถึงนั่งอยู่ในที่ที่มีสัตว์เลื้อยคลานอันน่ากลัว
สายฟ้าแลบแปลบปลาบ ฉวัดเฉวียน
ฝนตกในราตรีอันมืดมิด
ก็ปราศจากความขนพองสยองเกล้า
ข้าพระองค์กลัวมุสาวาท จึงไม่อาจคำนวณด้วยใจ
ของข้าพระองค์ได้ว่า ‘เรื่องนี้ข้าพระองค์ได้เห็นแล้วแน่’
ข้าพระองค์ไม่กล่าวว่า ‘ในเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ในเรื่องนี้เป็นอย่างนี้’
ในพรหมจรรย์หนึ่ง3มีพระขีณาสพผู้ละความตายได้ 1,000 รูป
พระเสขะมากกว่า 500 รูปไป
10 รูปบ้าง 100 รูปบ้าง
และผู้ถึงกระแสนิพพานทั้งหมดไม่ไปสู่ดิรัจฉานภูมิ
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญ

อันธกวินทสูตรที่ 3 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [6. พรหมสังยุต]
2. ทุติยวรรค 4. อรุณวตีสูตร

4. อรุณวตีสูตร
ว่าด้วยเรื่องเมืองอรุณวดี

[185] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ฯลฯ เขตกรุงสาวัตถี ณ
ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระนามว่าอรุณ ราชธานีของพระเจ้าอรุณ ชื่อว่า
อรุณวดี พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ทรงเข้าไปอาศัย
อรุณวดีราชธานีประทับอยู่ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม
ว่าสิขี ได้มีคู่พระสาวกนามว่าอภิภูและสัมภวะ เป็นคู่พระสาวกชั้นดีเลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า
สิขี รับสั่งเรียกอภิภูภิกษุมาตรัสว่า ‘พราหมณ์ มาเถิด เราจักเข้าไปพรหมโลก
ชั้นใดชั้นหนึ่งชั่วเวลาหนึ่ง จนกว่าจะถึงเวลาฉันภัตตาหาร’ ภิกษุทั้งหลาย อภิภูภิกษุ
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี และ
อภิภูภิกษุได้หายตัวจากอรุณวดีราชธานีไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือน
บุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี รับสั่ง
เรียกอภิภูภิกษุมาตรัสว่า ‘พราหมณ์ ธรรมีกถาจงปรากฏชัดแก่พรหม พรหมบริษัท
และพรหมปาริสัชชะทั้งหลายเถิด’
อภิภูภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้ชี้แจงให้พรหม พรหมบริษัท และ
พรหมปาริสัชชะทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :256 }