เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [6. พรหมสังยุต]
1. ปฐมวรรค 8. กตโมรกติสสกสูตร

7. โกกาลิกสูตร
ว่าด้วยโกกาลิกภิกษุ

[178] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับพักผ่อนอยู่ในที่พักกลางวัน
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ยืนพิงบานประตูคนละข้าง ลำดับนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมปรารภ
โกกาลิกภิกษุ ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ใครผู้มีปัญญาในโลกนี้
จะพึงประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้
เราเห็นว่าผู้นั้นมีปัญญาทึบยังเป็นปุถุชนอยู่
บังอาจประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้

โกกาลิกสูตรที่ 7 จบ

8. กตโมรกติสสกสูตร
ว่าด้วยกตโมรกติสสกภิกษุ

[179] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับพักผ่อนอยู่ในที่พักกลางวัน
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ยืนพิงบานประตูคนละข้าง ลำดับนั้น สุทธาวาสปัจเจกพรหมปรารภ
กตโมรกติสสกภิกษุ ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ใครผู้มีปัญญาในโลกนี้
จะพึงประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้
เราเห็นว่าผู้นั้นมีปัญญาทึบยังเป็นปุถุชนอยู่
บังอาจประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้

กตโมรกติสสกสูตรที่ 8 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [6. พรหมสังยุต]
1. ปฐมวรรค 9. ตุทุพรหมสูตร

9. ตุทุพรหมสูตร
ว่าด้วยตุทุปัจเจกพรหม

[180] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น โกกาลิกภิกษุอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป
ตุทุปัจเจกพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปหา
โกกาลิกภิกษุจนถึงที่อยู่ ยืนอยู่กลางอากาศได้กล่าวกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “ท่าน
โกกาลิกะ ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเถิด
เพราะท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
โกกาลิกภิกษุถามว่า “ผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร”
ตุทุปัจเจกพรหมตอบว่า “เราเป็นตุทุปัจเจกพรหม”
โกกาลิกภิกษุกล่าวว่า “ผู้มีอายุ ท่านได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคว่า
เป็นอนาคามีแล้วมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านจึงมาที่นี้อีก ท่านจงเห็นว่า
ความผิดนี้ของท่านมีอยู่เถิด”
ตุทุปัจเจกพรหมได้กล่าวว่า
ผรุสวาจา (คำหยาบ) เป็นเหมือนผึ่ง
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของบุรุษ
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :247 }