เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [6. พรหมสังยุต] 1. ปฐมวรรค 4. พกสูตร

ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทพนั้น
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล1
นางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
จงทำบุญอันจะนำความสุขมาให้สืบ ๆ ไป
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทพนั้น
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
นางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
จงทำบุญอันจะนำความสุขมาให้สืบ ๆ ไป

พรหมเทวสูตรที่ 3 จบ

4. พกสูตร
ว่าด้วยพกพรหม

[175] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พกพรหมได้เกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า “ฐานะ
แห่งพรหมนี้เที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกัน คงที่ มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ อนึ่ง เครื่องสลัดออก(จากทุกข์)อันยิ่งอย่างอื่นนอกจากฐานะ
แห่งพรหมนี้ไม่มี”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [6. พรหมสังยุต] 1. ปฐมวรรค 4. พกสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของพกพรหมด้วยพระทัยแล้ว
ทรงหายพระองค์จากพระเชตวันแล้วไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น พกพรหมได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลัง
เสด็จมาแต่ไกล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ฐานะแห่งพรหมนี้เที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกัน คงที่ มีความไม่
เคลื่อนเป็นธรรมดา ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ อนึ่ง เครื่องสลัดออก(จาก
ทุกข์)อันยิ่ง อย่างอื่นนอกจากฐานะแห่งพรหมนี้ไม่มี”
เมื่อพกพรหมกล่าวเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพกพรหมดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พกพรหมถึงความโง่เขลาแล้วหนอ พกพรหมถึงความโง่เขลา
แล้วหนอ พกพรหมกล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง กล่าวฐานะ
แห่งพรหมที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน กล่าวฐานะแห่งพรหมที่ไม่ติดต่อกันว่าติดต่อกัน
กล่าวฐานะแห่งพรหมที่ไม่คงที่ว่าคงที่ กล่าวฐานะแห่งพรหมที่มีความเคลื่อนเป็น
ธรรมดาว่ามีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา และกล่าวฐานะแห่งพรหมอันเป็นที่เกิด
แก่ ตาย จุติและอุบัติแห่งตนว่า ฐานะแห่งพรหมนี้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ
ไม่อุบัติ อนึ่ง ย่อมกล่าวเครื่องสลัดออก(จากทุกข์)อันยิ่งอย่างอื่นซึ่งมีอยู่ว่าไม่มี
พกพรหมกราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์ 72 องค์
บังเกิดในพรหมโลกนี้ เพราะบุญกรรม
มีอำนาจให้เป็นไป ล่วงชาติและชราได้แล้ว
การอุบัติในพรหมโลก ซึ่งถึงฝั่งแห่งเวทนี้เป็นที่สุดแล้ว
ชนมิใช่น้อยย่อมปรารถนาเป็นดังพวกข้าพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :238 }