เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [5. ภิกขุนีสังยุต] 4. วิชยาสูตร

เธอยังสาวมีรูปงาม และฉันเองก็ยังหนุ่มแน่น
มาเถิดน้องนาง เรามาร่วมบรรเลงดนตรีเครื่องห้า1
ให้สำเริงสำราญกันเถิด
ลำดับนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา จะเป็น
มนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า “นี่คือมาร
ผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล วิชยาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
มาร รูป เสียง กลิ่น รส
และโผฏฐัพพะซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
เราขอมอบให้ท่านผู้เดียว เราไม่ต้องการสิ่งนั้น
เราอึดอัดระอาด้วยกายเน่านี้
ที่มีแต่จะแตกทำลายเปื่อยพังไป
กามตัณหาเราถอนได้แล้ว
ความมืดในสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในรูปภพ
ที่ดำรงอยู่ในอรูปภพและในสมาบัติอันสงบทั้งปวง
เราก็กำจัดได้หมดแล้ว
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “วิชยาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง

วิชยาสูตรที่ 4 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [5. ภิกขุนีสังยุต] 5. อุปปลวัณณาสูตร

5. อุปปลวัณณาสูตร
ว่าด้วยอุบลวรรณาภิกษุณี

[166] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า อุบลวรรณาภิกษุณีครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร ฯลฯ
ได้ยืนอยู่ที่โคนต้นสาละซึ่งมีดอกบานสะพรั่งต้นหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์
จะให้อุบลวรรณาภิกษุณีเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาอุบลวรรณาภิกษุณีถึงที่ยืนอยู่
ได้กล่าวกับอุบลวรรณาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ภิกษุณี ท่านเข้าไปใกล้ต้นสาละ
ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งถึงยอดแล้ว
ยืนอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนต้นสาละนั้น
อนึ่ง ผิวพรรณของท่านไม่เป็นสองรองใคร
ท่านไม่กลัวความสามหาวของพวกนักเลงเจ้าชู้หรือ1
ลำดับนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา
จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้
อีกว่า “นี่คือมารผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ฯลฯ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล อุบลวรรณาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
แม้นักเลงตั้งแสนมาในที่นี้ เราก็ไม่สะดุ้ง
แม้เพียงขนของเราก็ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นสะเทือน
มาร เราแม้ผู้เดียวก็ไม่กลัวท่าน
เรานี้จะหายตัวไปหรือเข้าท้องท่าน
แม้จะยืนอยู่ ณ ระหว่างดวงตา ท่านก็ไม่เห็นเรา