เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4.มารสังยุต] 2.ทุติยวรรค 9. กัสสกสูตร

ชิวหาเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากชิวหา-
สัมผัส(ความกระทบทางลิ้น) เป็นของท่าน ฯลฯ
กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจาก
กายสัมผัส(ความกระทบทางกาย) เป็นของท่าน ฯลฯ
มโนเป็นของท่าน ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ
อันเกิดจากมโนสัมผัส(ความกระทบทางใจ) เป็นของท่าน แต่ในที่ใดไม่มีมโน ไม่มี
ธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากมโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนิน
ของท่าน”
มารกราบทูลว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า ‘นี้ของเรา’
ทั้งยังกล่าวว่า ‘ของเรา’
ถ้าใจของท่านยังฝังอยู่ในสิ่งนั้น
สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นจากเราไปได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา
ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านย่อมไม่เห็นแม้ทางของเรา
ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

กัสสกสูตรที่ 9 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 10. รัชชสูตร

10. รัชชสูตร
ว่าด้วยมารอัญเชิญพระผู้มีพระภาคให้เสวยราชสมบัติ

[156] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กระท่อมกลางป่า
ในหิมวันตประเทศ แคว้นโกศล ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “เราจะสามารถเสวยราชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่
เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้เขาเสื่อมเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขา
ให้เสื่อม ไม่ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก หรือไม่หนอ”
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มี
พระภาคจงเสวยราชสมบัติเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตจงเสวยราชสมบัติ
โดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ไม่ทำเขาให้เสื่อมเอง
ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เสื่อม ไม่ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มารผู้มีบาป ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึงพูดกับเรา
อย่างนี้ว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยราชสมบัติเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคต
จงเสวยราชสมบัติโดยธรรม โดยไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ไม่ทำ
เขาให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เสื่อม ไม่ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ไม่ใช้ผู้อื่น
ทำเขาให้เศร้าโศก”
มารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิบาท 4 ประการ พระองค์
ทรงเจริญ ทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งไว้เนือง ๆ สั่งสมแล้ว
ปรารภเสมอดีแล้ว ก็เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์พึงอธิษฐานภูเขาหลวงชื่อว่าหิมพานต์
ให้เป็นทองคำล้วน ภูเขานั้นก็เป็นทองคำล้วนได้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :199 }