เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 8. ปิณฑสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และธรรมารมณ์ทั้งสิ้นนี้ เป็นโลกามิสอันแรงกล้า
ชาวโลกพากันหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้
ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้า มีสติ
ข้ามพ้นโลกามิสนั้น ทั้งข้ามพ้นบ่วงแห่งมารได้แล้ว
รุ่งเรืองอยู่ดุจดวงอาทิตย์ ฉะนั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

อายตนสูตรที่ 7 จบ

8. ปิณฑสูตร
ว่าด้วยเรื่องบิณฑบาต

[154] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจ-
สาลา แคว้นมคธ สมัยนั้น ที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลา มีงานนักขัตฤกษ์
แจกของแก่พวกเด็ก ๆ ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลา สมัยนั้น
พราหมณคหบดีชาวปัญจสาลาถูกมารผู้มีบาปเข้าดลใจ ด้วยประสงค์ว่า “พระ-
สมณโคดมอย่าได้อาหารบิณฑบาตเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลา
เพื่อบิณฑบาตด้วยบาตรเปล่าอย่างใด ก็เสด็จกลับมาด้วยบาตรเปล่าอย่างนั้น ลำดับนั้น
มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “สมณะ ท่านได้อาหารบิณฑบาตบ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มารผู้มีบาป ท่านทำให้เราไม่ได้อาหารบิณฑบาต
มิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :195 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 9. กัสสกสูตร

มารผู้มีบาปกราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จเข้าไปยัง
หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลาเพื่อบิณฑบาตใหม่อีกครั้ง ข้าพระองค์จักกระทำ
พระผู้มีพระภาคให้ได้อาหารบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มารขัดขวางตถาคต ได้ประสบสิ่งมิใช่บุญแล้ว
มารผู้มีบาป ท่านเข้าใจว่า
‘บาปย่อมไม่ให้ผลแก่เรา’ อย่างนั้นหรือ
พวกเราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
อยู่สุขสบายจริงหนอ พวกเราจักมีปีติเป็นภักษา
ดุจเทพชั้นอาภัสสร ฉะนั้น
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปิณฑสูตรที่ 8 จบ

9. กัสสกสูตร
ว่าด้วยมารแปลงกายเป็นชาวนา

[155] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ที่ประกอบด้วยนิพพาน ภิกษุเหล่านั้นต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมา
ด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงชี้แจงให้ภิกษุ
ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยนิพพาน ฯลฯ ทางที่ดีเรา
พึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับเพื่อลวงบริษัทให้หลงเข้าใจผิดเถิด” ครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :196 }