เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 5. มานสสูตร

5. มานสสูตร
ว่าด้วยบ่วงใจ

[151] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บ่วงนี้เที่ยวไปในอากาศ
มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
สมณะ ท่านไม่พ้นจากเราไปได้1
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว2
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

มานสสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 6. ปัตตสูตร

6. ปัตตสูตร
ว่าด้วยเรื่องบาตร

[152] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ที่เกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ 5 ภิกษุเหล่านั้นต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมา
ด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงชี้แจงให้ภิกษุ
ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาที่เกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ 5 ภิกษุเหล่านั้น
ต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่ ทางที่
ดีเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อให้บริษัทหลงเข้าใจผิดเถิด”
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรส่วนใหญ่ไว้ในที่กลางแจ้ง ลำดับนั้น มาร
ผู้มีบาปแปลงกายเป็นโคพลิพัทเดินไปยังที่วางบาตร ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกับภิกษุ
อีกรูปหนึ่งว่า “ภิกษุ ภิกษุ โคพลิพัทนั่นกำลังจะทำบาตรแตก” เมื่อภิกษุนั้นพูด
อย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “นั่นไม่ใช่โคพลิพัท นั่นคือมารผู้มีบาป
มาเพื่อลวงให้เธอหลงเข้าใจผิด”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
อริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายรูป
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
อย่างนี้ว่า ‘เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :193 }