เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 4. ปฏิรูปสูตร

4. ปฏิรูปสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่สมควร

[150] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกสาลา
แคว้นโกศล สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงแสดง
ธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้มีคฤหัสถ์บริษัท
หมู่ใหญ่แวดล้อม แสดงธรรมอยู่ ทางที่ดีเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
เพื่อให้บริษัทหลงเข้าใจผิดเถิด”
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านพร่ำสอนธรรมใดแก่ผู้อื่น
ธรรมนั้นไม่สมควรแก่ท่านเลย
เมื่อท่านกล่าวสอนธรรมนั้น
อย่าได้ข้องในความยินดียินร้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระสัมพุทธเจ้าทรงมีจิตเกื้อกูลอนุเคราะห์
ทรงพร่ำสอนธรรมใดแก่ผู้อื่น
ตถาคตหลุดพ้นจากความยินดียินร้ายในธรรมนั้นแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปฏิรูปสูตรที่ 4 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [4. มารสังยุต] 2. ทุติยวรรค 5. มานสสูตร

5. มานสสูตร
ว่าด้วยบ่วงใจ

[151] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บ่วงนี้เที่ยวไปในอากาศ
มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
สมณะ ท่านไม่พ้นจากเราไปได้1
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว2
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

มานสสูตรที่ 5 จบ