เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
3. ตติยวรรค 4. อิสสัตถสูตร

4. อิสสัตถสูตร
ว่าด้วยทานที่ประกอบด้วยองค์ 5 มีผลมาก

[135] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทาน ณ ที่ไหน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร จิตเลื่อมใสในที่ใดล่ะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้ในที่ไหนจึงมีผลมาก”
“มหาบพิตร บุคคลควรให้ทานในที่ไหน นั่นประการหนึ่ง และทานที่ให้ในที่ไหน
จึงมีผลมาก นั่นประการหนึ่ง ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทานที่ให้ในผู้ทุศีลไม่มีผลมาก
ด้วยเหตุนั้น อาตมภาพจักย้อนถามพระองค์ในปัญหาข้อนั้นบ้าง พระองค์พอพระทัย
อย่างใดพึงชี้แจงอย่างนั้น พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้
การยุทธ์พึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้ากษัตริย์
หนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกปรือ ไม่มีความชำนาญ ไม่ได้ประลองการยิง เป็นคน
ขลาด หวาดสะดุ้ง มักวิ่งหนี มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์
พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์
ไม่ต้องการคนเช่นนั้นเลย”
“ถ้าพราหมณ์หนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าแพศย์หนุ่มเป็น
ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าศูทรหนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา
พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์
ไม่ต้องการคนเช่นนั้นเลย”
“มหาบพิตร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้การยุทธ์
พึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้ากษัตริย์หนุ่มเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :168 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
3. ตติยวรรค 4. อิสสัตถสูตร

ผู้ศึกษาดีแล้ว ได้ฝึกปรือแล้ว มีความชำนาญ ได้ฝึกการยิงมาแล้ว ไม่เป็นคน
ขลาด ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่หลบหนี มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ
และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์พึง
ต้องการคนเช่นนั้น”
“ถ้าพราหมณ์หนุ่มเป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าแพศย์หนุ่ม
เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าศูทรหนุ่มเป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ
มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร แม้หากว่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จากตระกูลใด และกุลบุตรนั้นเป็นผู้ละองค์ 5 เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 5 ทานที่ให้
แล้วในกุลบุตรนั้นจากตระกูลนั้น ย่อมมีผลมาก”
องค์ 5 อะไรบ้างอันกุลบุตรนั้นละได้ คือ
1. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) อันกุลบุตรนั้นละได้
2. พยาบาท (ความคิดปองร้าย) อันกุลบุตรนั้นละได้
3. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อันกุลบุตรนั้นละได้
4. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) อันกุลบุตรนั้นละได้
5. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) อันกุลบุตรนั้นละได้
องค์ 5 นี้แลอันกุลบุตรนั้นละได้
กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 5 อะไรบ้าง
คือ กุลบุตรนั้น
1. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์ของพระอเสขะ
2. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ของพระอเสขะ
3. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ของพระอเสขะ
4. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ของพระอเสขะ
5. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ของพระอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :169 }