เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 3. ตติยวรรค 3. โลกสูตร

3. โลกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก

[134] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเท่าไรหนอ เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้น
เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลก
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. โลภธรรม เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
2. โทสธรรม เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
3. โมหธรรม เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม 3 ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่
เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
โลภะ โทสะ และโมหะเกิดขึ้นภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
ดุจขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น1

โลกสูตรที่ 3 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
3. ตติยวรรค 4. อิสสัตถสูตร

4. อิสสัตถสูตร
ว่าด้วยทานที่ประกอบด้วยองค์ 5 มีผลมาก

[135] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทาน ณ ที่ไหน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร จิตเลื่อมใสในที่ใดล่ะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้ในที่ไหนจึงมีผลมาก”
“มหาบพิตร บุคคลควรให้ทานในที่ไหน นั่นประการหนึ่ง และทานที่ให้ในที่ไหน
จึงมีผลมาก นั่นประการหนึ่ง ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทานที่ให้ในผู้ทุศีลไม่มีผลมาก
ด้วยเหตุนั้น อาตมภาพจักย้อนถามพระองค์ในปัญหาข้อนั้นบ้าง พระองค์พอพระทัย
อย่างใดพึงชี้แจงอย่างนั้น พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้
การยุทธ์พึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้ากษัตริย์
หนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกปรือ ไม่มีความชำนาญ ไม่ได้ประลองการยิง เป็นคน
ขลาด หวาดสะดุ้ง มักวิ่งหนี มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์
พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์
ไม่ต้องการคนเช่นนั้นเลย”
“ถ้าพราหมณ์หนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าแพศย์หนุ่มเป็น
ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าศูทรหนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา
พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์
ไม่ต้องการคนเช่นนั้นเลย”
“มหาบพิตร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้การยุทธ์
พึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้ากษัตริย์หนุ่มเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :168 }