เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 3. ตติยวรรค 2. อัยยิกาสูตร

ย่อมลุกรับสมณะ หรือพราหมณ์ หรือวณิพกอื่น ๆ
ย่อมสำเหนียกในจรรยาอันเรียบร้อย
ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้สิ่งของเครื่องใช้แก่คนที่กำลังขอ
มหาบพิตรผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน
คนเช่นนั้นเมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงไตรทิพยสถาน
บุคคลประเภทนี้ ชื่อว่าผู้สว่างมาและสว่างไป

ปุคคลสูตรที่ 1 จบ

2. อัยยิกาสูตร
ว่าด้วยพระอัยยิกาของพระเจ้าปเสนทิโกศล

[133] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แต่ยังวัน ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์
เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอัยยิกาของ
ข้าพระองค์ ทรงพระชรา แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัย มีพระชนม์ 120 ชันษา
ได้ทิวงคตเสียแล้ว พระองค์เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของข้าพระองค์มาก พระพุทธเจ้าข้า
หากข้าพระองค์ใช้ช้างแก้วแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งช้างแก้วเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระ
อัยยิกาของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’
หากข้าพระองค์ใช้ม้าแก้วแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งม้าแก้วเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระ
อัยยิกาของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :165 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 3. ตติยวรรค 2. อัยยิกาสูตร

หากข้าพระองค์ใช้บ้านส่วยแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งบ้านส่วยเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระ
อัยยิกาของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’
หากข้าพระองค์ใช้ชนบทแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งชนบทเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกา
ของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า ‘สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้น
ความตายไปได้ มหาบพิตร ภาชนะดินชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งดิบและสุก ภาชนะดิน
เหล่านั้นทั้งหมด มีความแตกเป็นธรรมดา มีความแตกเป็นที่สุด ไม่พ้นความแตก
ไปได้ แม้ฉันใด มหาบพิตร สัตว์ทั้งปวงก็มีความตายเป็นธรรมดา มีความตาย
เป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ฉันนั้นเหมือนกัน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลบุญและบาป
คือ ผู้ทำบาปจักไปนรก ส่วนผู้ทำบุญจักไปสวรรค์
เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี
สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

อัยยิกาสูตรที่ 2 จบ