เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
2. ทุติยวรรค 5. ทุติยสังคามสูตร

ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกมา
รุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับข่าวว่า
‘พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกมา
รุกรานเราทางแคว้นกาสี’ จึงทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้กับพระเจ้าอชาต-
ศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ป้องกันแคว้นกาสี ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู
เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ กับพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทำสงครามต่อกัน
สงครามครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชนะพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ผู้ครองแคว้นมคธ และได้จับเป็นเชลยศึก ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริ
ดังนี้ว่า ‘ถึงแม้พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธนี้ จะประทุษร้ายเรา
ผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็นหลานของเรา ทางที่ดีเราควรยึดพลช้าง พลม้า
พลรถและพลเดินเท้าทั้งหมดของพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ
แล้วปล่อยพระองค์ให้รอดชีวิตไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยึดพลช้าง พลม้า
พลรถ และพลเดินเท้าทั้งหมดของพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ
แล้วทรงปล่อยพระองค์ให้รอดชีวิตไป”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
คนจะแย่งชิงได้ เท่าที่การแย่งชิงนั้นจะเป็นไปได้
แต่เมื่อใดคนเหล่าอื่นมาแย่งชิงบ้าง
เมื่อนั้นผู้แย่งชิงนั้นก็กลับถูกเขาแย่งชิงไป
เพราะว่าบาปยังไม่ให้ผลเพียงใด
คนพาลย่อมสำคัญบาปว่าเป็นของดีเพียงนั้น
แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์
ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ
ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้โกรธย่อมได้รับการโกรธตอบ
เพราะเมื่อกรรมให้ผล ผู้แย่งชิงนั้นย่อมถูกเขาแย่งชิงไป

ทุติยสังคามสูตรที่ 5 จบ