เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 1. ปฐมวรรค 10. พันธนสูตร

วาชเปยยะ นิรัคคฬะ1ไม่มีผลมาก
(เพราะ)พระอริยะผู้ปฏิบัติชอบแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับยัญที่มีการฆ่าแพะ
แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ
ส่วนยัญใด ไม่มีกิริยา เอื้ออำนวยประโยชน์
ประชาชนบูชาตระกูลทุกเมื่อ
คือ ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ
พระอริยะผู้ปฏิบัติชอบ แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ย่อมเกี่ยวข้องกับยัญนั้น
นักปราชญ์พึงบูชายัญนั้น ที่มีผลมาก
เพราะเมื่อบูชายัญนั้นนั่นแหละ
ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว
ยัญย่อมแพร่หลาย และเทวดาก็ยังเลื่อมใส2

ยัญญสูตรที่ 9 จบ

10. พันธนสูตร
ว่าด้วยเครื่องจองจำ

[121] สมัยนั้น หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวก
ถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต
ยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
1. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิ-
โกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา
บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
แต่กล่าวถึงความกำหนัดยินดีนักในเครื่องประดับแก้วมณี
และความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่มีความกำหนัดยินดีนักในเครื่องประดับแก้วมณีเป็นต้นนั้น
ที่ต่ำ หย่อน แก้ได้ยาก ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
ธีรชนตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นได้แล้วออกบวช
เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ละกามสุขเสียได้1

พันธนสูตรที่ 10 จบ
วรรคที่ 1 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ทหรสูตร 2. ปุริสสูตร
3. ชรามรณสูตร 4. ปิยสูตร
5. อัตตรักขิตสูตร 6. อัปปกสูตร
7. อัตถกรณสูตร 8. มัลลิกาสูตร
9. ยัญญสูตร 10. พันธนสูตร