เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต]
1. ปฐมวรรค 5. อัตตรักขิตสูตร

5. อัตตรักขิตสูตร
ว่าด้วยผู้รักษาตน

[116] พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักษาตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักษาตน’
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักษาตน’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักษาตน แม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถหรือพลเดินเท้า
ไม่รักษาเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักษาตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น ก็ชนบางพวกประพฤติกายทุจริต ฯลฯ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักษาตน แม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า
ไม่รักษาเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักษาตน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :134 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 1. ปฐมวรรค 6. อัปปกสูตร

พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
การสำรวมกายเป็นการดี
การสำรวมวาจาเป็นการดี
การสำรวมใจเป็นการดี
การสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นการดี
บุคคลสำรวมในที่ทั้งปวงแล้วมีความละอายต่อบาป
เรากล่าวว่ารักษาตน

อัตตรักขิตสูตรที่ 5 จบ

6. อัปปกสูตร
ว่าด้วยสัตว์มีจำนวนน้อย

[117] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘สัตว์เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่ในกาม
และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก ส่วนสัตว์
เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว มัวเมา ประมาท ติดอยู่ในกามและประพฤติผิด
ในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนมากในโลก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น สัตว์เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่
ในกามและไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก
ส่วนสัตว์เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว มัวเมา ประมาท ติดอยู่ในกามและประพฤติ
ผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนมากในโลก”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคะที่น่าใคร่
มักมาก หมกมุ่นในกาม ไม่รู้สึกตัวว่าละเมิด
เหมือนพวกเนื้อไม่รู้สึกตัวว่ามีบ่วงที่เขาดักไว้
ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง
เพราะกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม

อัปปกสูตรที่ 6 จบ