เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [3. โกสลสังยุต] 1. ปฐมวรรค 4. ปิยสูตร

4. ปิยสูตร
ว่าด้วยผู้รักตน

[115] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน’
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนเหล่าใดประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ
ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนเหล่าใด
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้น
จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ที่รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ
เจริญนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น เพราะว่าชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ
ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนบางพวก
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :132 }