เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [2. เทวปุตตสังยุต]
3. นานติตถิยวรรค 6. โรหิตัสสสูตร

6. โรหิตัสสสูตร
ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร

[107] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
โรหิตัสสเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรง
ถึงที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุด
แห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’
ด้วยการไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้านเปรียบได้กับนายขมังธนู มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของ
ข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ
ช่ำชอง ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศรเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยาก ฉะนั้น
การย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออก
ถึงทะเลด้านตะวันตก ฉะนั้น ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลก
ด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นเพียบพร้อม
ด้วยความเร็วและการย่างเท้าอย่างนี้ เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ
100 ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง 100 ปี ดำเนินไปได้ตั้ง 100 ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :118 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [2. เทวปุตตสังยุต]
3. นานติตถิยวรรค 6. โรหิตัสสสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป เราไม่
กล่าวว่า การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อนึ่ง เราบัญญัติโลก1 ความเกิดแห่งโลก2 ความดับแห่งโลก3 และข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงความดับแห่งโลก4 ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง
ไม่ว่าเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก
ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป
และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์
เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี
ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์
สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า5”

โรหิตัสสสูตรที่ 6 จบ