เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [2. เทวปุตตสังยุต]
3. นานติตถิยวรรค 5. ชันตุสูตร

5. ชันตุสูตร
ว่าด้วยชันตุเทพบุตร

[106] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากอยู่ในกุฎีป่า ข้างภูเขาหิมพานต์ แคว้นโกศล เป็นผู้
ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ
มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์
ครั้นในวันอุโบสถ 15 ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ในกาลก่อน พวกภิกษุสาวกของพระโคดม
เป็นอยู่เรียบง่าย ไม่มักมากการแสวงหาบิณฑบาต
ไม่มักมากที่นอนที่นั่ง
ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยง
จึงกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนเป็นคนเลี้ยงยาก
กิน ๆ แล้วก็นอนเหมือนคนที่โกงชาวบ้าน
หมกมุ่นอยู่ในเรือนของคนอื่น
ข้าพเจ้าทำอัญชลีต่อสงฆ์แล้ว
ขอพูดกับท่านบางพวกในที่นี้ว่า
พวกท่านถูกเขาทอดทิ้งแล้ว เป็นคนอนาถาเหมือนเปรต
ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาบุคคลพวกที่ประมาทอยู่
ส่วนท่านเหล่าใดไม่ประมาท
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านเหล่านั้น1

ชันตุสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [2. เทวปุตตสังยุต]
3. นานติตถิยวรรค 6. โรหิตัสสสูตร

6. โรหิตัสสสูตร
ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร

[107] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
โรหิตัสสเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรง
ถึงที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุด
แห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’
ด้วยการไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้านเปรียบได้กับนายขมังธนู มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของ
ข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ
ช่ำชอง ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศรเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยาก ฉะนั้น
การย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออก
ถึงทะเลด้านตะวันตก ฉะนั้น ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลก
ด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นเพียบพร้อม
ด้วยความเร็วและการย่างเท้าอย่างนี้ เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ
100 ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง 100 ปี ดำเนินไปได้ตั้ง 100 ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :118 }