เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [2. เทวปุตตสังยุต]
2. อนาถปิณฑิกวรรค 8. กกุธสูตร

7. สุพรหมสูตร
ว่าด้วยสุพรหมเทพบุตร

[98] สุพรหมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถานี้ว่า
จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์
เมื่อกิจทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้นก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดี
ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่
พระองค์ผู้ที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นอกจากปัญญาเครื่องตรัสรู้ ความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความสำรวมอินทรีย์ และการสละทุกสิ่งทุกอย่าง
เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลายเลย
สุพรหมเทพบุตรได้กราบทูลดังนี้แล้ว ฯลฯ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สุพรหมสูตรที่ 7 จบ

8. กกุธสูตร
ว่าด้วยกกุธเทพบุตร

[99] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระอัญชนวัน สถานที่พระราชทาน
อภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป กกุธเทพบุตรมีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระอัญชนวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [2. เทวปุตตสังยุต]
2. อนาถปิณฑิกวรรค 8. กกุธสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อาวุโส เราได้อะไรเล่า”
“ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้น พระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ”
“อาวุโส เราเสื่อมเสียอะไรเล่า”
“ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้น พระองค์ไม่ทรงยินดีเลย ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ”
“เป็นเช่นนั้น อาวุโส”
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภิกษุ
พระองค์ไม่ทรงมีความทุกข์บ้างหรือ
ไม่ทรงมีความเพลิดเพลินบ้างหรือ
ความไม่ยินดีไม่ครอบงำพระองค์ผู้อยู่ผู้เดียวหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ยักษ์ เราไม่มีความทุกข์และความเพลิดเพลิน
อนึ่ง ความไม่ยินดีก็ไม่ครอบงำเราผู้อยู่ผู้เดียว
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภิกษุ
ทำไมพระองค์จึงไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเพลิดเพลิน
ทำไมความไม่ยินดีจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้อยู่ผู้เดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้มีความทุกข์เท่านั้นจึงมีความเพลิดเพลิน
ผู้มีความเพลิดเพลินเท่านั้นจึงมีความทุกข์
(ส่วน)ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน เป็นผู้ไม่มีความทุกข์
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด อาวุโส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :105 }