เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 8. โคปกโมคคัลลานสูตร

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตก วิจาร
สงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ บรรลุตติยฌาน ...
บรรลุจตุตถฌาน ... อยู่
พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้”
“ท่านพระอานนท์ ได้ยินว่า พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นทรงติเตียนฌานที่
ควรติเตียน ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ ถ้าเช่นนั้น บัดนี้ กระผมขอลากลับ
เพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
“พราหมณ์ ท่านจงรู้กาลอันควรไป ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธ ชื่นชมยินดี
ภาษิตของท่านพระอานนท์ ลุกจากที่นั่งแล้วจากไป
ครั้งนั้นแล เมื่อวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธ จากไปแล้ว
ไม่นาน โคปกโมคคัลลานพราหมณ์ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านพระ
อานนท์ยังมิได้ตอบปัญหาที่กระผมทั้งหลายถามเลย”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “พราหมณ์ เราได้กล่าวแล้วมิใช่หรือว่า ‘ไม่มีภิกษุ
แม้สักรูปหนึ่งที่ประกอบด้วยธรรมครบถ้วนทุกข้อทุกประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงประกอบพร้อมแล้ว เพราะ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงยังมรรคที่ไม่อุบัติให้อุบัติ ทรงยังมรรคที่ยัง
ไม่เกิดให้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ไม่มีใครบอกได้ ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้แจ้ง
มรรค ทรงฉลาดในมรรค ส่วนสาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ดำเนินตามมรรคใน
ภายหลังจึงประกอบพร้อมอยู่”

โคปกโมคคัลลานสูตรที่ 8 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 9. มหาปุณณมสูตร

9. มหาปุณณมสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาในคืนดวงจันทร์เต็มดวง สูตรใหญ่

[85] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน
บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ คืนดวงจันทร์
เต็มดวง พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง ครั้งนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทูลถามเหตุอย่างหนึ่งกับพระองค์ ถ้า
พระผู้มีพระภาคทรงประทานวโรกาส ที่จะตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน
แล้วถามปัญหาที่เธอต้องการจะถามเถิด”

อุปาทานขันธ์ 5 ประการ

[86] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นนั่งบนอาสนะของตนแล้วได้ทูลถามปัญหากับ
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ใช่ไหม คือ

1. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
2. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
3. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
4. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
5. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ คือ

1. รูปูปาทานขันธ์ 2. เวทนูปาทานขันธ์
3. สัญญูปาทานขันธ์ 4. สังขารูปาทานขันธ์
5. วิญญาณูปาทานขันธ์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :96 }