เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 6. อาเนญชสัปปายสูตร

ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่อากิญจัญญายตน
สมาบัติ ประการที่ 1
[69] อีกประการหนึ่ง อริยสาวกไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง
ก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘สิ่งนี้ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา’ เมื่อ
อริยสาวกนั้นปฏิบัติอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใสใน
อายตนะ เมื่อมีความผ่องใส อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ
หรือน้อมใจไปในปัญญาในปัจจุบันได้ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว วิญญาณที่เป็น
ไปในภพนั้น ๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงอากิญจัญญายตนภูมิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่อากิญจัญญายตน
สมาบัติ ประการที่ 2
[70] อีกประการหนึ่ง อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราไม่มีในที่ไหน ๆ
สิ่งน้อยหนึ่งของใคร ๆ ก็ไม่มีในเรานั้น และสิ่งน้อยหนึ่งของเราก็ไม่มีในที่ไหน ๆ
ในใคร ๆ ก็ไม่มีสิ่งน้อยหนึ่งเลย’ เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มาก
ด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใสในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส อริยสาวกนั้น
ย่อมเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ หรือน้อมใจไปในปัญญาในปัจจุบันได้ เป็นไป
ได้ที่หลังจากตายแล้ว วิญญาณที่เป็นไปในภพนั้น ๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึง
อากิญจัญญายตนภูมิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่อากิญจัญญายตน
สมาบัติ ประการที่ 3
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘กามที่มีในภพนี้ และ
กามที่มีในภพหน้า กามสัญญาที่มีในภพนี้ และกามสัญญาที่มีในภพหน้า รูปที่มี
ในภพนี้ และรูปที่มีในภพหน้า รูปสัญญาที่มีในภพนี้ และรูปสัญญาที่มีในภพหน้า
อาเนญชสัญญา และอากิญจัญญายตนสัญญา สัญญาทั้งหมดนี้ย่อมดับไม่เหลือใน
ฌานใด ฌานนั้นคือเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เป็นสมาบัติอันสงบ ประณีต’
เมื่ออริยสาวกนั้นปฏิบัติอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :75 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 6. อาเนญชสัปปายสูตร

ในอายตนะ เมื่อมีความผ่องใส อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตน
สมาบัติ หรือน้อมใจไปในปัญญาในปัจจุบันได้ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว
วิญญาณที่เป็นไปในภพนั้น ๆ พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่เนวสัญนาสัญญายตน
สมาบัติ”
[71] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ปฏิบัติอย่างนี้
แล้ว ย่อมได้อุเบกขาอย่างนี้ว่า ‘สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา หากจักไม่มีก็จักไม่มี
แก่เรา เพราะเราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่และมีมาแล้วนั้นไป’ ภิกษุนั้นพึงปรินิพพาน
หรือไม่พึงปรินิพพาน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุบางรูปพึงปรินิพพานในอัตภาพนี้
บางรูปไม่พึงปรินิพพานในอัตภาพนี้”
“อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุบางรูปปรินิพพานในอัตภาพนี้ บางรูป
ไม่ปรินิพพานในอัตภาพนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ย่อมได้อุเบกขาอย่างนี้ว่า ‘สิ่งที่ไม่มีก็
ไม่พึงมีแก่เรา หากจักไม่มีก็จักไม่มีแก่เรา เพราะเราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่และมีมา
แล้วนั้นไป’ ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ชื่นชม ยึดติดอุเบกขานั้น เมื่อเธอเพลิดเพลิน
ชื่นชม ยึดติดอุเบกขานั้นอยู่ วิญญาณย่อมเป็นอันอาศัยอุเบกขานั้น ยึดมั่น
อุเบกขานั้น อานนท์ ภิกษุผู้มีความยึดมั่นย่อมปรินิพพานไม่ได้”
“ก็ภิกษุนั้นเมื่อยึดมั่น จะยึดมั่นในธรรมข้อไหน พระพุทธเจ้าข้า”
“ย่อมยึดมั่นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเมื่อยึดมั่น ย่อมยึดมั่นอุปาทาน
ส่วนที่สำคัญที่สุดหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ภิกษุนั้นเมื่อยึดมั่น ย่อมยึดมั่นอุปาทานส่วนที่สำคัญที่สุด ก็
อุปาทานส่วนที่สำคัญที่สุดนี้ คือเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :76 }