เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 1. เทวทหสูตร

[5] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนิครนถ์เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับ
นิครนถ์เหล่านั้นว่า
‘นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้มีผล 2 อย่างในปัจจุบัน
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. ศรัทธา (ความเชื่อ)
2. รุจิ (ความชอบใจ)
3. อนุสสวะ (การฟังตามกันมา)
4. อาการปริวิตก (ความตรึกตามอาการ)
5. ทิฏฐินิชฌานขันติ (ความเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้)

นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ มีผล 2 อย่างในปัจจุบัน1
บรรดาธรรมทั้ง 5 ประการนั้น นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลายมีความเชื่อ มี
ความชอบใจ มีการฟังตามกันมา มีความตรึกตามอาการ มีความเข้ากันได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจไว้ ในศาสดาผู้มีวาทะที่เป็นส่วนอดีต อย่างไร’
ภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะอย่างนี้ ก็ไม่พิจารณาเห็นการโต้ตอบวาทะอันชอบ
ธรรมแม้สักนิดในนิครนถ์ทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เรากล่าวกับนิครนถ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
‘นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือสมัยใด
ท่านทั้งหลายมีความพยายามอย่างแรงกล้า มีความเพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น
ท่านทั้งหลายพึงเสวยทุกขเวทนากล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความเพียรพยายาม
อย่างแรงกล้า แต่สมัยใด ท่านทั้งหลายไม่มีความพยายามอย่างแรงกล้า ไม่มี
ความเพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น ท่านทั้งหลายก็ไม่พึงเสวยทุกขเวทนากล้า เผ็ด
ร้อน ซึ่งเกิดจากความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 1. เทวทหสูตร

นิครนถ์เหล่านั้นรับว่า ‘ท่านพระโคดม สมัยใด ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความ
พยายามอย่างแรงกล้า มีความเพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายก็
เสวยทุกขเวทนากล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า แต่
สมัยใด ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่มีความพยายามอย่างแรงกล้า ไม่มีความเพียรอย่างแรงกล้า
สมัยนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ไม่เสวยทุกขเวทนากล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความ
เพียรพยายามอย่างแรงกล้า’
[6] เรากล่าวดังนี้ว่า ‘นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ได้ยินว่า สมัยใด ท่าน
ทั้งหลายมีความพยายามอย่างแรงกล้า มีความเพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น ท่าน
ทั้งหลายพึงเสวยทุกขเวทนากล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความเพียรพยายามอย่าง
แรงกล้า แต่สมัยใด ท่านทั้งหลายไม่มีความพยายามอย่างแรงกล้า ไม่มีความ
เพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น ท่านทั้งหลายก็ไม่พึงเสวยทุกขเวทนากล้า เผ็ดร้อน
ซึ่งเกิดจากความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า เมื่อเป็นเช่นนี้ นิครนถ์ผู้มีอายุ
ทั้งหลายจึงไม่ควรพยากรณ์ว่า ‘บุรุษบุคคลนี้เสวยสุขบ้าง เสวยทุกข์บ้าง เสวย
อทุกขมสุขบ้าง ทั้งหมดนั้น เพราะเหตุแห่งกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เพราะกรรม
เก่าสิ้นสุดด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ จึงไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ(แห่งกรรม)ต่อไป
เพราะไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรมต่อไป กรรมจึงสิ้นไป เพราะกรรมสิ้นไป
ทุกข์จึงสิ้นไป เพราะทุกข์สิ้นไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งปวง
จึงจักเป็นอันสลายไป’
นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสมัยใด ท่านทั้งหลายมีความพยายามอย่าง
แรงกล้า มีความเพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น ทุกขเวทนากล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิด
จากความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า พึงหยุดได้เอง แต่สมัยใด ท่านทั้งหลาย
ไม่มีความพยายามอย่างแรงกล้า ไม่มีความเพียรอย่างแรงกล้า สมัยนั้น ทุกขเวทนา
กล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า พึงหยุดได้เอง เมื่อ
เป็นเช่นนี้ นิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลายจึงควรพยากรณ์ว่า ‘บุรุษบุคคลนี้เสวยสุขบ้าง
เสวยทุกข์บ้าง เสวยอทุกขมสุขบ้าง ทั้งหมดนั้น เพราะเหตุแห่งกรรมที่ทำไว้ใน
ชาติก่อน เพราะกรรมเก่าสิ้นสุดด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ จึงไม่ตกอยู่ใต้
อำนาจ(แห่งกรรม)ต่อไป เพราะไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรมต่อไป กรรมจึงสิ้นไป
เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงสิ้นไป เพราะทุกข์สิ้นไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนา
สิ้นไป ทุกข์ทั้งปวงจึงจักเป็นอันสลายไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :8 }