เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 4. สามคาสูตร

อานนท์ อมูฬหวินัย เป็นอย่างนี้ การระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้
ย่อมมีได้ด้วยอมูฬหวินัยอย่างนี้
[51] ปฏิญญาตกรณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกกล่าวหาก็ตาม ไม่ถูกกล่าวหาก็ตาม ย่อมระลึก
เปิดเผย ทำอาบัตินั้นให้ชัดเจนได้ ภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาภิกษุผู้แก่กว่า ห่มจีวรเฉวียงบ่า
กราบเท้า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอแสดงคืนอาบัตินั้น’ ภิกษุผู้แก่กว่านั้นกล่าวว่า
‘ท่านเห็นหรือ’ เธอกล่าวว่า ‘ขอรับ ข้าพเจ้าเห็น’ ภิกษุผู้แก่กว่านั้นจึงกล่าวว่า
‘ท่านพึงสำรวมต่อไป’ เธอกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าจักสำรวม’
อานนท์ ปฏิญญาตกรณะ เป็นอย่างนี้ การระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรม
วินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยปฏิญญาตกรณะอย่างนี้
[52] ตัสสปาปิยสิกา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าวหาภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้
คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ‘ท่านระลึกได้หรือว่า ‘ท่านต้องอาบัติ
หนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก’
ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ‘ข้าพเจ้า
ต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก’
ภิกษุผู้กล่าวหานั้นพึงปลอบโยนเธอผู้กล่าวแก้ตัวว่า ‘เอาเถอะ ท่านจงตรอง
ดูให้ดี ถ้าท่านระลึกได้ว่า ‘ท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้
เคียงปาราชิก’
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ‘ข้าพเจ้า
ต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก’ แต่ข้าพเจ้าระลึก
ได้ว่า ‘ข้าพเจ้าต้องอาบัติเพียงเล็กน้อยเห็นปานนี้’ ภิกษุผู้กล่าวหานั้นปลอบโยนเธอ
ผู้กล่าวแก้ตัวว่า ‘เอาเถอะ ท่านจงตรองดูให้ดี ถ้าท่านระลึกได้ว่า ‘ท่านต้องอาบัติ
หนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :57 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 4. สามคาสูตร

ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ความจริงข้าพเจ้าต้องอาบัติเพียงเล็ก
น้อยนี้ แม้ไม่ถูกใครถามยังรับสารภาพ ทำไมต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ
ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก ถูกถามแล้วจักไม่รับสารภาพเล่า’
ภิกษุผู้กล่าวหานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ก็ท่านต้องอาบัติเพียงเล็กน้อยนี้ ยังไม่
ถูกถามจึงไม่รับสารภาพ ต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียง
ปาราชิก ไม่ถูกถามแล้ว จักรับสารภาพทำไม เอาเถอะ ท่านจงตรองดูให้ดี ถ้า
ท่านระลึกได้ว่า ‘ท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียง
ปาราชิก’
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ากำลังระลึกได้ว่า ‘ข้าพเจ้า
ต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว’ คำที่ว่า
ข้าพเจ้าระลึกถึงอาบัตินั้นไม่ได้ว่า ‘ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก
หรือใกล้เคียงปาราชิก’ นี้ ข้าพเจ้าพูดเล่นพูดพลั้งไป’
อานนท์ ตัสสปาปิยสิกา เป็นอย่างนี้ การระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้
ย่อมมีได้ด้วยตัสสปาปิยสิกาอย่างนี้
[53] ติณวัตถารกวินัย เป็นอย่างไร
คือ กรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมากที่ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
ผู้เกิดการบาดหมาง เกิดการทะเลาะ ถึงการวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงละเมิด
ได้พูดล่วงเกินแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุม ภิกษุผู้ฉลาด
กว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นฝ่ายเดียวกันพึงลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคอง
อัญชลีแล้วประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ‘ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
กรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก เราทั้งหลายในที่นี้ผู้เกิดการบาดหมาง
เกิดการทะเลาะ ถึงการวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงละเมิด ได้พูดล่วงเกินแล้ว
ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านเหล่านี้และ
ของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่มีความพัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วย
ติณวัตถารกวินัยในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านเหล่านี้ และเพื่อประโยชน์
แก่ตน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :58 }