เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 8. นครวินเทยยสูตร

ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ (1) สมถะ (2) วิปัสสนา
ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ (1) วิชชา (2) วิมุตติ1
ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

สฬายตนวิภังคสูตรที่ 7 จบ

8. นครวินเทยยสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ

[434] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวแคว้นโกศลชื่อนครวินทะ พราหมณ์
และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ ได้ทราบข่าวว่า
“ท่านพระสมณโคดมผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนครวินทะ
โดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพรียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 8. นครวินเทยยสูตร

อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค‘1 พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่าง
แท้จริง”2
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลสนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ประกาศชื่อและโคตร ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพราหมณ์และคหบดี
ชาวบ้านนครวินทะว่า

สมณพราหมณ์ผู้ไม่ควรสักการะ

[435] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามท่าน
ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร อัน
ท่านทั้งหลายไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา’ ท่าน
ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังไม่ปราศจากราคะ(ความกำหนัด) ยังไม่ปราศจาก
โทสะ(ความขัดเคือง) ยังไม่ปราศจากโมหะ(ความลุ่มหลง)ในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา
มีจิตยังไม่สงบในภายใน ประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ
สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา’