เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 4. นันทโกวาทสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะเมื่อประทีปน้ำมันโน้นถูกจุดไว้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวไฟก็ดี ล้วน
ไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงแสงสว่างของประทีป
น้ำมันนั้นซึ่งไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดาเลย เจ้าข้า”
“ฉันนั้นเหมือนกัน น้องหญิงทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อายตนะ
ภายใน 6 ของเรานี้ ไม่เที่ยง แต่เราอาศัยอายตนะภายใน 6 แล้ว ย่อมเสวย
เวทนาใด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นอทุกขมสุขก็ตาม เวทนานั้น เที่ยง
ยั่งยืน เป็นไปติดต่อ มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา ผู้ที่กล่าวนั้น ชื่อว่าพึงกล่าว
ชอบหรือไม่”
“ชอบ เจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะอาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้น ๆ เวทนาที่เกิดจากอายตนะ
ภายในนั้น ๆ จึงเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้น ๆ ดับ เวทนา
ที่เกิดจากอายตนะภายในนั้น ๆ จึงดับ”
“ดีละ ดีละ น้องหญิงทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย
ปัญญาอันชอบ ย่อมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างนี้แล
[412] น้องหญิงทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น
กิ่งและใบ และเงา ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘รากก็ดี ลำต้นก็ดี กิ่งและใบก็ดี เงาก็ดี ของต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้น มีแก่น
ล้วนไม่เที่ยง มีความแปรผันเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของต้นไม้นั้นเที่ยง ยั่งยืน
เป็นไปติดต่อ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ผู้ที่กล่าวนั้นชื่อว่าพึงกล่าวชอบ
หรือไม่”
“ไม่ชอบ เจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่น มีราก ลำต้น กิ่งและใบ ล้วนไม่เที่ยง
มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเงาของต้นไม้นั้นซึ่งไม่เที่ยง มี
ความแปรผันเป็นธรรมดาเลย เจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :466 }