เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 4. นันทโกวาทสูตร

เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นจากไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ 14 ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่
มีความเคลือบแคลงหรือความสงสัยเลยว่า ‘ดวงจันทร์ไม่เต็มดวงหรือเต็มดวงหนอ’
แต่ที่แท้ ดวงจันทร์ก็ยังไม่เต็มดวงนั่นเอง แม้ฉันใด ภิกษุณีเหล่านั้น ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้มีใจยินดีต่อธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งที่ยังมีความดำริไม่
บริบูรณ์”
[407] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระนันทกะมาตรัสว่า
“นันทกะ ถ้าเช่นนั้น วันพรุ่งนี้ เธอพึงโอวาทภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้น
นั่นแหละ” ท่านพระนันทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ครั้นเวลาเช้า ท่านพระนันทกะครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว
กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ผู้เดียวเข้าไปยังราชการาม
ภิกษุณีเหล่านั้นเห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล จึงช่วยกันปูลาดอาสนะและตั้ง
น้ำล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วล้างเท้า แม้ภิกษุณี
เหล่านั้นกราบท่านพระนันทกะแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระนันทกะได้กล่าวกับ
ภิกษุณีเหล่านั้นว่า
“น้องหญิงทั้งหลาย การถามตอบกันจักมีขึ้น ในการถามตอบกันนั้น น้อง
หญิงทั้งหลายเมื่อรู้ พึงตอบว่า ‘ดิฉันทั้งหลายรู้’ เมื่อไม่รู้พึงตอบว่า ‘ดิฉัน
ทั้งหลายไม่รู้’ หรือน้องหญิงรูปใดมีความเคลือบแคลง หรือความสงสัย น้องหญิง
รูปนั้นพึงถามอาตมภาพในเรื่องนั้นว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้
มีเนื้อความอย่างไร”
ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันทั้งหลายมีใจยินดีชื่นชม
พระคุณเจ้านันทกะ ด้วยเหตุที่พระคุณเจ้านันทกะปวารณาแก่ดิฉันทั้งหลายเช่นนี้”
[408] “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง เจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :461 }