เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 4. นันทโกวาทสูตร

โพชฌงค์ 7 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก(ความสงัด) อาศัยวิราคะ
(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ) น้อมไปใน
โวสสัคคะ(ความสละคืน)
2. ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
3. ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
4. ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
5. ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ...
6. ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
7. ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย
นิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ1
เพราะโพชฌงค์ 7 ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว เพราะ
อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ภิกษุจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
[406] ครั้งนั้น ท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว
จึงส่งไปด้วยคำว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว”
ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระนันทกะ แล้วลุก
ขึ้นจากอาสนะ กราบท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “ภิกษุณีทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเถิด สมควร
แก่เวลาแล้ว”
ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ
แล้วจากไป


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 4. นันทโกวาทสูตร

เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นจากไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ 14 ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่
มีความเคลือบแคลงหรือความสงสัยเลยว่า ‘ดวงจันทร์ไม่เต็มดวงหรือเต็มดวงหนอ’
แต่ที่แท้ ดวงจันทร์ก็ยังไม่เต็มดวงนั่นเอง แม้ฉันใด ภิกษุณีเหล่านั้น ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้มีใจยินดีต่อธรรมเทศนาของนันทกะ ทั้งที่ยังมีความดำริไม่
บริบูรณ์”
[407] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระนันทกะมาตรัสว่า
“นันทกะ ถ้าเช่นนั้น วันพรุ่งนี้ เธอพึงโอวาทภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้น
นั่นแหละ” ท่านพระนันทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ครั้นเวลาเช้า ท่านพระนันทกะครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว
กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ผู้เดียวเข้าไปยังราชการาม
ภิกษุณีเหล่านั้นเห็นท่านพระนันทกะเดินมาแต่ไกล จึงช่วยกันปูลาดอาสนะและตั้ง
น้ำล้างเท้าไว้ ท่านพระนันทกะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วล้างเท้า แม้ภิกษุณี
เหล่านั้นกราบท่านพระนันทกะแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระนันทกะได้กล่าวกับ
ภิกษุณีเหล่านั้นว่า
“น้องหญิงทั้งหลาย การถามตอบกันจักมีขึ้น ในการถามตอบกันนั้น น้อง
หญิงทั้งหลายเมื่อรู้ พึงตอบว่า ‘ดิฉันทั้งหลายรู้’ เมื่อไม่รู้พึงตอบว่า ‘ดิฉัน
ทั้งหลายไม่รู้’ หรือน้องหญิงรูปใดมีความเคลือบแคลง หรือความสงสัย น้องหญิง
รูปนั้นพึงถามอาตมภาพในเรื่องนั้นว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้
มีเนื้อความอย่างไร”
ภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันทั้งหลายมีใจยินดีชื่นชม
พระคุณเจ้านันทกะ ด้วยเหตุที่พระคุณเจ้านันทกะปวารณาแก่ดิฉันทั้งหลายเช่นนี้”
[408] “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง เจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :461 }