เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค]
1. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

“ก็พระเชตวันนี้ มีหมู่ฤาษีพำนักอยู่
พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่
เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์
การงาน 1 วิชชา 1 ธรรม 1 ศีล 1 ชีวิตอันสูงสุด 1
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรมนี้
หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่
เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน
ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด
เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดในธรรมเหล่านั้น
พระสารีบุตรเท่านั้น เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง
ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ”
ภิกษุทั้งหลาย เทพบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว รู้ว่า ‘พระศาสดาทรงพอ
พระทัยเรา’ จึงไหว้เรา ทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง”1
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทพบุตรนั้น จักเป็นอนาถบิณฑิก
เทพบุตรแน่ เพราะอนาถบิณฑิกคหบดีเลื่อมใสแล้วในท่านพระสารีบุตร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ อานนท์ เรื่องที่เธอคาดคะเนนั้น เธอลำดับ
เรื่องถูกแล้ว เทพบุตรนั้นคืออนาถบิณฑิกเทพบุตร มิใช่ใครอื่น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อนาถปิณฑิโกวาทสูตรที่ 1 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค] 2. ฉันโนวาทสูตร

2. ฉันโนวาทสูตร1
ว่าด้วยการให้โอวาทแก่พระฉันนะ

[389] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่าน
พระฉันนะ2อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้
หนัก ครั้นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้น3แล้วเข้าไปหาท่านพระ
มหาจุนทะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า “มาเถิดท่านจุนทะ
พวกเราเข้าไปถามอาการอาพาธของท่านพระฉันนะกันเถิด” ท่านพระมหาจุนทะรับ
คำแล้ว
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะเข้าไปหาท่านพระฉันนะ
ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะดังนี้ว่า “ท่านฉันนะ ท่านยัง
สบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ
อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”4
ท่านพระฉันนะตอบว่า “ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้
ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ
อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมคมทิ่มแทงศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน
แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่
ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ
อาการทุเลาไม่ปรากฏ