เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค]
1. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

[384] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน
พระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “คหบดี ท่านยังสบายดี
หรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการ
ทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”1
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่
ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ
อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมคมทิ่มแทงศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน
แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้
ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการ
ทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันที่ศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน
แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้
ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการ
ทุเลาไม่ปรากฏ ขอรับ
เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง
แม้ฉันใด ลมอันแรงกล้าเสียดแทงท้องของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผม
ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย
อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง 2 คน จับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้างย่างให้
ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด อาการเร่าร้อนในกายของกระผมก็มีมากอย่างยิ่ง
ฉันนั้นเหมือนกัน
ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผม
กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ”2


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค]
1. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

[385] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “คหบดี เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียก
ในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นจักขุ(ตา) และวิญญาณที่อาศัยจักขุของเราก็จัก
ไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นโสตะ(หู)
และวิญญาณที่อาศัยโสตะของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ
(จมูก) และวิญญาณที่อาศัยฆานะของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา(ลิ้น)
และวิญญาณที่อาศัยชิวหาของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นกาย
(ร่างกาย) และวิญญาณที่อาศัยกายของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นมโน(ใจ)
และวิญญาณที่อาศัยมโนของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ (1)
คหบดี เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นรูป
และวิญญาณที่อาศัยรูปของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นเสียง ...
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นกลิ่น ...
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นรส ...
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่น
โผฏฐัพพะ ...
เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่นธรรมารมณ์
และวิญญาณที่อาศัยธรรมารมณ์ของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ (2)
คหบดี เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ยึดมั่น
จักขุวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยจักขุวิญญาณของเราก็จักไม่มี’ ท่านพึงสำเหนียก
อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :435 }