เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค]
1. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

5. สฬายตนวรรค
หมวดว่าด้วยอายตนะ 6 ประการ
1. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
ว่าด้วยการให้โอวาทแก่อนาถบิณฑิกคหบดี

[383] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า
“มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เจ้าจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา แล้ว
กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’
และจงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ กราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้า
ตามคำของเรา จงเรียนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า’ และ
จงเรียนอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอนุเคราะห์ เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถ
บิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์ด้วยเถิด”
บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่าน
อนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายบังคมพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า” และเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ไหว้
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่าน
อนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่าน
พระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้าและฝากมาเรียนว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอนุเคราะห์
เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์ด้วยเถิด”
ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :433 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [5. สฬายตนวรรค]
1. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

[384] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน
พระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “คหบดี ท่านยังสบายดี
หรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการ
ทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”1
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่
ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ
อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมคมทิ่มแทงศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน
แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้
ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการ
ทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันที่ศีรษะ แม้ฉันใด ลมอัน
แรงกล้าเสียดแทงศีรษะของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้
ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการ
ทุเลาไม่ปรากฏ ขอรับ
เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง
แม้ฉันใด ลมอันแรงกล้าเสียดแทงท้องของกระผมฉันนั้นเหมือนกัน กระผม
ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย
อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง 2 คน จับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้างย่างให้
ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด อาการเร่าร้อนในกายของกระผมก็มีมากอย่างยิ่ง
ฉันนั้นเหมือนกัน
ท่านสารีบุตร กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผม
กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ”2