เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [1. เทวทหวรรค] 2. ปัญจัตตยสูตร

สิ่งนี้นั้นยังถูกปัจจัยปรุงแต่ง จึงชื่อว่าหยาบ และความดับของสิ่งที่ถูกปัจจัย
ปรุงแต่งก็มีอยู่ ตถาคตรู้ว่า 'ความดับนี้มีอยู่' เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดสิ่งที่ถูก
ปัจจัยปรุงแต่งนั้น จึงล่วงพ้นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้ ด้วยอาการอย่างนี้
[33] ภิกษุทั้งหลาย เพราะกามสังโยชน์ตั้งอยู่ไม่ได้โดยประการทั้งปวง
เพราะสละคืนทิฏฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และเพราะสละคืนทิฏฐิอันคล้อยตาม
ขันธ์ส่วนอนาคต เพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดจากวิเวก เพราะก้าวล่วงสุขอันปราศจากอามิส
เพราะก้าวล่วงอทุกขมสุขเวทนาได้ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ จึง
พิจารณาเห็นว่า 'เราเป็นผู้สงบระงับ เป็นผู้ดับ เป็นผู้ไม่มีอุปาทาน'
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตรู้ทิฏฐินี้นั้นเป็นอย่างดี เพราะกามสังโยชน์ตั้งอยู่ไม่ได้
โดยประการทั้งปวง เพราะสละคืนทิฏฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และเพราะสละ
คืนทิฏฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต เพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดจากวิเวก เพราะ
ก้าวล่วงสุขอันปราศจากอามิส เพราะก้าวล่วงอทุกขมสุขเวทนาได้ สมณะหรือ
พราหมณ์นี้ จึงพิจารณาเห็นว่า 'เราเป็นผู้สงบระงับ เป็นผู้ดับ เป็นผู้ไม่มีอุปาทาน'
นี้แล ท่านผู้นี้ย่อมกล่าวยืนยันปฏิปทาที่เอื้ออำนวยให้ถึงนิพพานอย่างเดียวโดยแท้
แต่สมณะหรือพราหมณ์นี้ เมื่อยังถือมั่นทิฏฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ก็ชื่อว่า
ยังถือมั่นอยู่ เมื่อถือมั่นทิฏฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ก็ชื่อว่ายังถือมั่น
อยู่ เมื่อถือมั่นกามสังโยชน์ ก็ชื่อว่ายังถือมั่นอยู่ เมื่อถือมั่นปีติอันเกิดจากวิเวก
ก็ชื่อว่ายังถือมั่นอยู่ เมื่อถือมั่นสุขอันปราศจากอามิส ก็ชื่อว่ายังถือมั่นอยู่ หรือ
เมื่อถือมั่นอทุกขมสุขเวทนา ก็ชื่อว่ายังถือมั่นอยู่ แม้ข้อที่ท่านผู้นี้พิจารณาเห็นว่า
'เราเป็นผู้สงบระงับ เป็นผู้ดับ เป็นผู้ไม่มีอุปาทาน' นั้น บัณฑิตเรียกว่าอุปาทาน
ของสมณพราหมณ์นี้
สิ่งนี้นั้นยังถูกปัจจัยปรุงแต่ง จึงชื่อว่าหยาบ และความดับของสิ่งที่ถูกปัจจัย
ปรุงแต่งก็มีอยู่ ตถาคตรู้ว่า 'ความดับนี้มีอยู่' เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดสิ่งที่ถูก
ปัจจัยปรุงแต่งนั้น จึงล่วงพ้นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้ ด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :42 }