เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 9. อรณวิภังคสูตร

แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือความลับที่เป็นความจริง เป็นความแท้ ประกอบ
ด้วยประโยชน์นี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[339] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือคำล่วงเกินต่อหน้า ที่ไม่
เป็นคำจริง ไม่เป็นคำแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์นี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน
มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่า
เป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือคำล่วงเกินต่อหน้า ที่เป็นคำจริง เป็นคำแท้ แต่ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์นี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือคำล่วงเกินต่อหน้า ที่เป็นคำจริง เป็นคำแท้
ประกอบด้วยประโยชน์นี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มี
ความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[340] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือคำที่บุคคลผู้รีบร้อนพูดนี้
มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด
เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือคำที่บุคคลผู้ไม่รีบร้อนพูดนี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความ
เบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น
ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[341] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือการยึดภาษาท้องถิ่น และ
การละเลยคำพูดสามัญนี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือการไม่ยึดภาษาท้องถิ่น และการไม่ละเลยคำพูดสามัญนี้
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อ
ปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :400 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 10. ธาตุวิภังคสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาในอรณวิภังค์นี้อย่างนี้แลว่า
‘เราทั้งหลาย รู้ธรรมที่มีกิเลส และรู้ธรรมที่ไม่มีกิเลสแล้ว จักปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ
เพื่อไม่มีกิเลส’ กุลบุตรผู้มีนามว่าสุภูติ ได้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติเพื่อไม่มีกิเลสแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อรณวิภังคสูตรที่ 9 จบ

10. ธาตุวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกธาตุ

[342] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ ถึงกรุงราชคฤห์แล้ว
เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อภัคควะถึงที่อยู่ แล้วได้ตรัสว่า “ภัคควะ ถ้าท่านไม่
หนักใจ เราขอพักในศาลาสักคืนหนึ่ง”
นายภัคควะกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่หนักใจเลย แต่ในศาลานี้
มีบรรพชิตเข้าไปพักอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตรูปนั้นอนุญาต ก็ขอเชิญท่านพักตาม
สบายเถิด”
ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
อุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาค ปุกกุสาติกุลบุตรนั้น เข้าไปพักอยู่ในศาลาของนายช่าง
หม้อนั้นก่อนแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติถึงที่อยู่แล้ว
ได้ตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าเธอไม่หนักใจ เราขอพักในศาลาสักคืนหนึ่ง”
ท่านปุกกุสาติตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ศาลาของนายช่างหม้อกว้างขวาง เชิญ
ท่านพักตามสบายเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังศาลาของนายช่างหม้อ ทรงลาด
สันถัดหญ้า ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระวรกายตรง ดำรง
พระสติไว้เฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่งจนล่วงเลยราตรีไปมาก แม้ท่านปุกกุสาติ
ก็นั่งจนล่วงเลยราตรีไปมากเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :401 }