เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 9. อรณวิภังคสูตร

[335] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือมัชฌิมาปฏิปทา ที่
ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
ความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความ
เบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น
ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[336] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือการยกย่อง การตำหนิ
และการไม่แสดงธรรมนี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน
เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือการไม่ยกย่อง การไม่ตำหนิ การแสดงธรรมเท่านั้นนี้
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อ
ปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[337] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือสุขอันเกิดจากกาม สุขอัน
เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ สุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะนี้ มีทุกข์ มีความ
เบียดเบียน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น
ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือเนกขัมมสุข สุขเกิดจากความสงัด สุขเกิดจากความ
สงบ สุขเกิดจากการตรัสรู้นี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น
ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[338] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือความลับที่ไม่เป็นความจริง
ไม่เป็นความแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์นี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความ
คับแค้น มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็น
ธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือความลับที่เป็นความจริง เป็นความแท้ แต่ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์นี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :399 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 9. อรณวิภังคสูตร

แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือความลับที่เป็นความจริง เป็นความแท้ ประกอบ
ด้วยประโยชน์นี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[339] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือคำล่วงเกินต่อหน้า ที่ไม่
เป็นคำจริง ไม่เป็นคำแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์นี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน
มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่า
เป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือคำล่วงเกินต่อหน้า ที่เป็นคำจริง เป็นคำแท้ แต่ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์นี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือคำล่วงเกินต่อหน้า ที่เป็นคำจริง เป็นคำแท้
ประกอบด้วยประโยชน์นี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มี
ความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[340] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือคำที่บุคคลผู้รีบร้อนพูดนี้
มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด
เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือคำที่บุคคลผู้ไม่รีบร้อนพูดนี้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความ
เบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น
ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส
[341] ภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น ธรรมคือการยึดภาษาท้องถิ่น และ
การละเลยคำพูดสามัญนี้ มีทุกข์ มีความเบียดเบียน มีความคับแค้น มีความ
เร่าร้อน เป็นข้อปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีกิเลส
แต่ในเรื่องนั้น ธรรมคือการไม่ยึดภาษาท้องถิ่น และการไม่ละเลยคำพูดสามัญนี้
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน เป็นข้อ
ปฏิบัติถูก เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :400 }