เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 8. อุทเทสวิภังคสูตร

ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า “ท่านกัจจานะ เป็นความจริงที่พระผู้มี
พระภาคทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ
มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม
เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่เราทั้งหลาย
จะทูลถามเนื้อความนี้กับพระองค์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด
เราทั้งหลายจะพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น อนึ่ง ท่านมหากัจจานะเป็นผู้ที่
พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่าน
มหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ขอท่านมหากัจจานะไม่ต้องหนักใจ ชี้แจงเถิด”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว
ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงอุทเทสโดยย่อไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อ
พิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน
ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่
ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ
และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากอาสนะเสด็จ
เข้าไปยังที่ประทับ กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงไว้โดยพิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้
[316] วิญญาณที่เรียกว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก‘ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว มีวิญญาณซ่านไปตามนิมิต
คือรูป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ถูกความยินดีในนิมิตคือรูปตรึงไว้ ถูก
ความยินดีในนิมิตคือรูปผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในนิมิตคือรูปว่า
‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :383 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 8. อุทเทสวิภังคสูตร

ฟังเสียงทางหูแล้ว ...
ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ...
ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว มีวิญญาณซ่านไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์ พระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ถูกความยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ตรึงไว้ ที่ถูกความ
ยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ผูกมัดไว้ ที่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีในนิมิต
คือธรรมารมณ์ว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก’
วิญญาณที่เรียกว่า ‘ฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก’ เป็นอย่างนี้
[317] วิญญาณที่เรียกว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก‘ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว มีวิญญาณไม่ซ่านไปตาม
นิมิตคือรูป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ไม่ถูกความยินดีในนิมิตคือรูปตรึงไว้
ที่ไม่ถูกความยินดีในนิมิตคือรูปผูกมัดไว้ ไม่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความยินดีใน
นิมิตคือรูปว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก’
ฟังเสียงทางหูแล้ว ...
ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ...
ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว มีวิญญาณไม่ซ่านไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์ พระผู้
มีพระภาคตรัสเรียกวิญญาณที่ไม่ถูกความยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ตรึงไว้ ที่ไม่
ถูกความยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ผูกมัดไว้ ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยสังโยชน์คือความ
ยินดีในนิมิตคือธรรมารมณ์ว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก’
วิญญาณที่เรียกว่า ‘ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก’ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :384 }