เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 7. สฬายตนวิภังคสูตร

อุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน อาศัยอารมณ์ต่างกันก็มี เป็นอย่างไร
คือ อุเบกขาในรูปก็มี อุเบกขาในเสียงก็มี อุเบกขาในกลิ่นก็มี อุเบกขา
ในรสก็มี อุเบกขาในโผฏฐัพพะก็มี
นี้จัดเป็นอุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน อาศัยอารมณ์ต่างกัน
อุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกัน เป็นอย่างไร
คือ อุเบกขาที่อาศัยอากาสานัญจายตนฌานก็มี อุเบกขาที่อาศัยวิญญาณัญ-
จายตนฌานก็มี อุเบกขาที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานก็มี อุเบกขาที่อาศัย
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็มี
นี้จัดเป็นอุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกัน
ในอุเบกขา 2 ประการนั้น เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงอุเบกขาที่เป็นประเภท
เดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกันแล้ว จงละ จงก้าวล่วงอุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน
อาศัยอารมณ์ต่างกันนั้นเสีย การละ การก้าวล่วงอุเบกขานี้มีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงอตัมมยตา1 แล้ว จงละ จงก้าวล่วง
อุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกันเสีย การละ การก้าวล่วง
อุเบกขานี้มีได้ด้วยอาการอย่างนี้
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ในสัตตบท 36 นั้น ‘เธอทั้งหลายอาศัยธรรมนี้แล้ว
จงละธรรมนี้เสีย’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
[311] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบสติปัฏฐาน 3 ที่พระอริยเสพซึ่ง
เมื่อเสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค] 7. สฬายตนวิภังคสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาในโลกนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า ‘นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูลแก่เธอทั้งหลาย นี้เป็นไปเพื่อสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกทั้งหลายของศาสดา
นั้นย่อมไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของ
ศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตไม่มีใจยินดี ไม่ชื่นชม และไม่ถูก(โทสะ) รั่วรด มี
สติสัมปชัญญะอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สติปัฏฐานประการที่ 1 ที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อ
เสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ
อีกประการหนึ่ง ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัย
ความเอ็นดูจึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า ‘นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอ
ทั้งหลาย นี้เป็นไปเพื่อสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกทั้งหลายของศาสดานั้น บางพวก
ไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา
บางพวกฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของ
ศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตก็ไม่มีใจยินดี ไม่ชื่นชม ไม่มีใจยินดีก็มิใช่ ไม่ชื่นชม
ก็มิใช่ เว้นความมีใจยินดีและความไม่มีใจยินดีทั้ง 2 อย่างนั้นแล้ว จึงเป็น
ผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สติปัฏฐานประการที่ 2 ที่พระอริยเสพ ซึ่ง
เมื่อเสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ
อีกประการหนึ่ง ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัย
ความเอ็นดูจึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า ‘นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอ
ทั้งหลาย นี้เป็นไปเพื่อสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกทั้งหลายของศาสดานั้น ย่อมฟัง
ด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในข้อนั้น
ตถาคตมีใจยินดี ชื่นชม และไม่ถูก(ราคะ) รั่วรด มีสติสัมปชัญญะอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สติปัฏฐานประการที่ 3 ที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อเสพ
ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :378 }