เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค]
3. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร

‘แม้ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ อนึ่ง ท่านจำคาถาที่แสดงถึงบุคคลผู้มีราตรีเดียว
เจริญได้ไหม”
“อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำได้ไหม”
“ภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ ขอท่านจงศึกษา เล่าเรียน และจำอุทเทส
และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญเถิด เพราะว่าอุทเทสและวิภังค์ของบุคคล
ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติ
พรหมจรรย์”
เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
[280] ครั้งนั้น เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระสมิทธิได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อคืนนี้ตอนใกล้รุ่ง ข้าพระองค์
ลุกขึ้นเข้าไปยังสระตโปทะเพื่อสรงน้ำ สรงเสร็จแล้ว ได้กลับมายืนนุ่งผ้าผืนเดียว
ผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วสระตโปทะ เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ แล้วยืน ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ภิกษุ ท่านจำอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มี
ราตรีเดียวเจริญได้ไหม’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าว
กับเทวดานั้นว่า ‘ผู้มีอายุ อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำได้ไหม’
เทวดากล่าวว่า ‘แม้ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ อนึ่ง ท่านจำคาถาอันแสดงถึงบุคคลผู้
มีราตรีเดียวเจริญได้ไหม’
ข้าพระองค์ตอบว่า ‘อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำได้ไหม’
เทวดากล่าวว่า ‘ภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ ขอท่านจงศึกษา เล่าเรียน
และจำอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญเถิด เพราะว่าอุทเทสและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :331 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [4. วิภังควรรค]
3. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร

วิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งการ
ประพฤติพรหมจรรย์‘1
เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดง
อุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่ข้าพระองค์เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว”
ท่านพระสมิทธิทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถา
ประพันธ์นี้ว่า
“บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง
ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง
บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ”