เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

4. อีกประการหนึ่ง มณีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือมณีแก้ว
นั้นเป็นแก้วไพฑูรย์ งามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ สุกใสเป็นประกาย
ได้สัดส่วน มีแปดเหลี่ยม เจียระไนไว้ดีแล้ว รัศมีแห่งมณีแก้วนั้น
แผ่ซ่านออกไปรอบ ๆ ประมาณ 1 โยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง
ทดสอบมณีแก้วนั้น ทรงให้หมู่จตุรงคินีเสนาผูกสอดเกราะแล้วทรง
ยกมณีแก้วนั้นเป็นยอดธง เสด็จไปประทับยืนในที่มืดยามราตรี
เพราะแสงสว่างนั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบสำคัญว่าเป็นเวลา
กลางวัน จึงพากันประกอบการงาน มณีแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่
พระเจ้าจักรพรรดิ
5. อีกประการหนึ่ง นางแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือนางแก้วนั้น
เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ไม่
สูงเกินไป ไม่เตี้ยเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป
ไม่ขาวเกินไป งดงามเกินผิวพรรณของหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึง
ผิวพรรณทิพย์ กายของนางแก้วนั้นมีสัมผัสอ่อนนุ่มดุจปุยนุ่นหรือ
ปุยฝ้าย มีร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน มีกลิ่น
จันทน์หอมฟุ้งออกจากกาย กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของนาง
นางแก้วนั้นมีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังว่าจะรับสั่งให้ทำอะไร
ประพฤติต้องพระทัย ทูลแต่คำไพเราะต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และ
นางแก้วนั้นจะไม่ประพฤตินอกพระทัยพระเจ้าจักรพรรดิ ไฉนเล่า
จะประพฤติล่วงเกินทางกายได้ นางแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่พระ
เจ้าจักรพรรดิ
6. อีกประการหนึ่ง คหบดีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือ
คหบดีแก้วนั้นเป็นผู้มีตาทิพย์ อันเกิดแต่ผลกรรม ซึ่งสามารถเห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :305 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

ขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้า
จักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดทรง
เป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้
พระองค์’
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง
ทดสอบคหบดีแก้วนั้น จึงเสด็จลงเรือลัดกระแสน้ำไปกลางแม่น้ำ
คงคา แล้วได้รับสั่งกับคหบดีแก้วว่า ‘คหบดี ฉันต้องการเงิน
และทอง’ คหบดีแก้วจึงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น
โปรดให้เทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด’ พระเจ้าจักรพรรดิ ตรัสว่า
‘คหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ’ ทันใดนั้น คหบดี
แก้วนั้นจึงเอามือทั้งสองหย่อนลงในน้ำ ยกหม้อที่เต็มด้วยเงินและ
ทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิว่า ‘เท่านี้พอหรือยัง
มหาราช เท่านี้ใช้ได้หรือยัง มหาราช เท่านี้พอบูชาแล้วหรือยัง
มหาราช’ พระเจ้าจักรพรรดิจึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘คหบดี เท่านี้พอแล้ว
เท่านี้ใช้ได้แล้ว เท่านี้ชื่อว่าบูชาแล้ว’ คหบดีแก้วเห็นปานนี้ปรากฏ
แก่พระเจ้าจักรพรรดิ
7. อีกประการหนึ่ง ปริณายกแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือ
ปริณายกแก้วนั้นเป็นบัณฑิต มีปรีชาสามารถถวายข้อแนะนำให้
พระเจ้าจักรพรรดิทรงบำรุงผู้ที่ควรบำรุง ถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน
ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง เข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด
ข้าพระองค์จักถวายคำปรึกษา’ ปริณายกแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่
พระเจ้าจักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการนี้
[259] พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ มีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มี
พระฉวีผุดผ่องยิ่งนักเกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ 1

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :306 }