เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
คือ เต่าตาบอดนั้นพึงสอดคอเข้าไปในแอกที่มีรูเดียวโน้นได้บ้างไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า แต่ถ้าเวลาล่วงเลยไปนาน ๆ บางครั้งบางคราวมัน
ก็จะสอดเข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดนั้นพึงสอดคอเข้าไปใน
แอกที่มีรูเดียวโน้นยังเร็วกว่า เรากล่าวว่าการที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวเดียวจะ
พึงได้เป็นมนุษย์อีกยากกว่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะในวินิบาตนั้น ไม่มีการประพฤติธรรม ไม่มีการประพฤติชอบ ไม่มี
การทำกุศล ไม่มีการทำบุญ ในวินิบาตนั้น มีแต่สัตว์ผู้เคี้ยวกินกันเอง เคี้ยวกิน
สัตว์ผู้มีกำลังน้อยกว่า1
คนพาลนั้น เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ในบางครั้งบางคราวถ้ามาเกิดเป็น
มนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลคนจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูล
ช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนขนขยะเช่นนั้น ที่เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำ
และสิ่งของเครื่องใช้น้อยเป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่องนุ่งห่ม
ได้ยาก และคนพาลนั้นมีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก
ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป เขายังประพฤติ
กายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก2
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนักเลงการพนัน เพราะความพ่ายแพ้ครั้งแรกเท่านั้น
จึงเสียลูก เสียเมีย เสียทรัพย์สมบัติทุกอย่าง และถึงการจองจำ ที่เป็นการ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

สูญเสียอย่างยิ่ง ความพ่ายแพ้ ของนักเลงการพนันผู้เสียลูก เสียเมีย เสียทรัพย์
สมบัติทุกอย่าง และถึงการจองจำเพราะความพ่ายแพ้ครั้งแรกนั้น เป็นเพียงเล็กน้อย
แม้ฉันใด ความพ่ายแพ้ของคนพาลผู้ประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติ
มโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น
เหมือนกัน
นี้เป็นภูมิของคนพาลที่คนพาลบำเพ็ญไว้ทั้งสิ้น
[253] ภิกษุทั้งหลาย ลักษณะของบัณฑิต เครื่องหมายของบัณฑิต ความ
ประพฤติไม่ขาดสายของบัณฑิต 3 ประการนี้
ลักษณะของบัณฑิต 3 ประการ อะไรบ้าง
คือ บัณฑิตในโลกนี้
1. ชอบคิดแต่เรื่องดี
2. ชอบพูดแต่เรื่องดี
3. ชอบทำแต่กรรมดี
ถ้าบัณฑิตไม่ชอบคิดเรื่องดี ไม่ชอบพูดเรื่องดี และไม่ชอบทำกรรมดีเช่นนั้น
บัณฑิตทั้งหลายจะพึงรู้จักเขาด้วยเหตุไรว่า ‘ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี’ แต่เพราะ
บัณฑิตชอบคิดแต่เรื่องดี ชอบพูดแต่เรื่องดี และชอบทำแต่กรรมดี ฉะนั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงรู้จักเขาว่า ‘ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี’1
บัณฑิตนั้นย่อมเสวยสุขโสมนัส 3 ประการในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตนั่งในสภาก็ดี ในตรอกก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
ถ้าชนในที่นั้นพูดถ้อยคำที่สมควรแก่ธรรมนั้นแก่เขา ถ้าบัณฑิตเป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดใน
กาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุรา