เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

[248] อีกประการหนึ่ง ในสมัยนั้น บาปกรรมที่คนพาลทำ คือ การ
ประพฤติกายทุจริต การประพฤติวจีทุจริต การประพฤติมโนทุจริตไว้ในกาลก่อน
ย่อมหน่วงเหนี่ยวบดบัง ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น
เปรียบเหมือนเงาของยอดภูเขาใหญ่ ย่อมกั้น บดบัง ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่
ในเวลาเย็น แม้ฉันใด ในสมัยนั้น บาปกรรมที่คนพาลทำ คือ การประพฤติกายทุจริต
การประพฤติวจีทุจริต การประพฤติมโนทุจริตไว้ในกาลก่อน ย่อมหน่วงเหนี่ยวบดบัง
ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น ฉันนั้นเหมือนกัน
ในเรื่องนั้น คนพาลมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่ได้ทำความดีไว้หนอ ยัง
ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรม
หยาบช้า ทำแต่กรรมเศร้าหมอง เราตายแล้ว จะไปสู่คติของผู้ไม่ได้ทำความดีไว้
ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรมหยาบช้า
ทำแต่กรรมเศร้าหมองนั้น’ เขาย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ
ถึงความหลงไหล
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ 3 นี้ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นยังประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต
ประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า ‘เป็นสถานที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยส่วนเดียว’ ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรกเปรียบเทียบกันไม่ได้”
[249] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงอุปมาได้อีกหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “เปรียบเหมือนราชบุรุษ
ทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดได้แล้ว จึงแสดงแก่พระราชาว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจร
ประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงพระอาญาตามที่ทรงพระราชประสงค์
แก่โจรผู้นี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :293 }