เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

[239] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระนันทิยะและท่าน
พระกิมพิละถึงที่อยู่ แล้วได้บอกว่า “รีบไปกันเถิดท่าน รีบไปกันเถิดท่าน พระผู้มี
พระภาคผู้เป็นพระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จมาถึงแล้ว”
ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละได้ต้อนรับพระผู้มี
พระภาค คือ รูปหนึ่งรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูพุทธอาสน์
รูปหนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท
พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ทรงล้างพระบาทแล้ว
พระเถระทั้ง 3 รูปนั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอนุรุทธะว่า “อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมพิละ
เธอทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ”
“ข้าพระองค์ทั้งหลายยังสบายดี ยังพอเป็นอยู่ได้ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต
พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายยังสามัคคีกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ
มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่หรือ”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายยังสามัคคีกัน ชื่นชมกัน ไม่
วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่
พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือน
น้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่อย่างไร”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ ข้าพระองค์ตั้งมั่นกายกรรมอัน
ประกอบด้วยเมตตา ตั้งมั่นวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา และตั้งมั่นมโนกรรม
อันประกอบด้วยเมตตา ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเก็บความนึกคิดของตนแล้วประพฤติตามอำนาจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :281 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

ความนึกคิดของท่านเหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิดของตนแล้วประพฤติตาม
อำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่
ความนึกคิดดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ท่านพระนันทิยะ ฯลฯ
แม้ท่านพระกิมพิละก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้
อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ ข้าพระองค์ตั้งมั่นกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
ตั้งมั่นวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา และตั้งมั่นมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเก็บความนึกคิดของตนแล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้’
ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิดของตนแล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่าน
เหล่านี้ กายของข้าพระองค์ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือนเป็นอัน
เดียวกัน
ข้าพระองค์ทั้งหลายยังสามัคคีกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนม
กับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่อย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
[240] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมพิละ
อนึ่ง เธอทั้งหลายไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่หรือ”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศ
กายและใจอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างไร”
“ขอประทานวโรกาส บรรดาข้าพระองค์ทั้งหลาย รูปใดกลับจากบิณฑบาต
จากบ้านก่อน รูปนั้นย่อมปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ รูปใด
กลับจากบิณฑบาตจากบ้านในภายหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉัน หาก
ประสงค์ก็ฉัน หากไม่ประสงค์ก็เททิ้งบนพื้นที่ที่ปราศจากของเขียว หรือเทลงในน้ำ
ที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นเก็บงำอาสนะ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ ล้างถาดสำรับเก็บไว้ กวาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :282 }