เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จ
เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี ทรงเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพีแล้ว เสด็จกลับ
จากบิณฑบาต ภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงเก็บงำเสนาสนะ ถือ
บาตรและจีวรประทับยืนอยู่นั่นแล ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[237] “ภิกษุทั้งหลายต่างส่งเสียงดังพร้อมกัน
ที่จะรู้สึกว่าตนเป็นพาลนั้น ไม่มีเลยสักรูปเดียว
ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น
เธอทั้งหลายขาดสติ แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต
เท้าคารมพูดได้ตามที่ตนปรารถนา
จะยื่นปากพูดก็ไม่รู้สึกถึงการทะเลาะ
ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า
‘คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป’
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า
‘คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป’
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร1
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร2
นี้เป็นธรรมเก่า3


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

ชนเหล่าอื่น1ไม่รู้ชัดว่า
‘พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ ณ ที่นี้’
ส่วนชนเหล่าใด2ในหมู่นั้น
รู้ชัดความมุ่งร้ายกันย่อมระงับ
เพราะการปฏิบัติของชนเหล่านั้น
ชนทั้งหลายบั่นกระดูกฆ่ากัน ลักทรัพย์คือโคและม้า
ช่วงชิงแว่นแคว้นกัน ก็ยังกลับมาคบหากันได้อีก
ไฉนเธอทั้งหลายจึงคบหากันไม่ได้เล่า
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตนเที่ยวไปด้วยกันได้
เป็นสาธุวิหารี3 เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหาย4ไม่มีในคนพาล