เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลายในกรุงโกสัมพี เกิดความบาดหมาง เกิดการ
ทะเลาะเกิดการวิวาท ถึงกับใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ขอประทานวโรกาส ขอ
พระผู้มีพระภาคโปรดอนุเคราะห์เสด็จไปหาภิกษุเหล่านั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ แล้วได้ตรัส
กับภิกษุเหล่านั้นว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าบาดหมาง อย่า
ทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นธรรมสามี (เจ้าของธรรม)
โปรดรอก่อน ขอพระผู้มีพระภาคทรงขวนขวายน้อย ประกอบตามสุขวิหารธรรมใน
ปัจจุบันอยู่เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจะปรากฏเพราะความบาดหมาง การทะเลาะ
การขัดแย้ง และการวิวาทนั่นเอง พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “อย่าเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
ภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นธรรมสามี โปรดรอก่อน ขอพระผู้มีพระภาคทรง
ขวนขวายน้อย ประกอบตามสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะปรากฏเพราะความบาดหมาง การทะเลาะ การขัดแย้ง และการวิวาท
นั่นเอง พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ 3 พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “อย่าเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
ภิกษุรูปนั้นก็ได้กราบทูลอีกเป็นครั้งที่ 3 ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้
มีพระภาคผู้ทรงเป็นธรรมสามี โปรดรอก่อน ขอพระพระผู้มีพระภาคทรงขวนขวาย
น้อย ประกอบตามสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจะ
ปรากฏเพราะความบาดหมาง การทะเลาะ การขัดแย้ง และการวิวาทนั้นเอง
พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :277 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จ
เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี ทรงเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพีแล้ว เสด็จกลับ
จากบิณฑบาต ภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงเก็บงำเสนาสนะ ถือ
บาตรและจีวรประทับยืนอยู่นั่นแล ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[237] “ภิกษุทั้งหลายต่างส่งเสียงดังพร้อมกัน
ที่จะรู้สึกว่าตนเป็นพาลนั้น ไม่มีเลยสักรูปเดียว
ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น
เธอทั้งหลายขาดสติ แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต
เท้าคารมพูดได้ตามที่ตนปรารถนา
จะยื่นปากพูดก็ไม่รู้สึกถึงการทะเลาะ
ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า
‘คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป’
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า
‘คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป’
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร1
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร2
นี้เป็นธรรมเก่า3