เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 7. อนุรุทธสูตร

“บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ 2 รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมจิต
แผ่ไปตลอดมหาปฐพีมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็น
มหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่า ขอรับ”
“ท่านกัจจานะ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิดในหมู่เทพเดียวกัน
เหล่านั้น บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้”
[234] “ดีละ ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ แต่กระผมมีเรื่องจะขอสอบถามให้ยิ่งขึ้น
ไปในเรื่องนี้ว่า ‘เทพผู้มีรัศมีทั้งหมดนั้นมีรัศมีเศร้าหมอง หรือว่าบรรดาเทพ
เหล่านั้นมีเทพบางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์”
“ท่านกัจจานะ โดยองค์แห่งการเกิดนั้น บรรดาเทพเหล่านี้ เทพบางพวกมี
รัศมีเศร้าหมอง แต่เทพบางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์”
“ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิด
ในหมู่เทพเดียวกันเหล่านั้น เทพบางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่เทพบางพวกมีรัศมี
บริสุทธิ์”
“ท่านกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น กระผมจักทำการเปรียบเทียบแก่ท่าน แม้เพราะ
การเปรียบเทียบ วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ จึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งภาษิตได้
เปรียบเหมือน เมื่อประทีปน้ำมันอันบุคคลจุดไฟอยู่ แม้น้ำมันก็ไม่บริสุทธิ์
แม้ไส้ก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะน้ำมันและไส้ไม่บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นจึงติดไฟอย่าง
ริบหรี่ แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิต
แผ่กสิณมีแสงสว่างเศร้าหมองเป็นอารมณ์อยู่ ไม่ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี
ไม่ถอนถีนมิทธะให้ดี ไม่กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เพราะไม่ระงับความชั่วหยาบ
ทางกายให้ดี ไม่ถอนถีนมิทธะให้ดี ไม่กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี ภิกษุนั้นจึง
รุ่งเรืองอย่างริบหรี่ หลังจากมรณภาพแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับหมู่เทพ
ผู้มีรัศมีเศร้าหมอง
เปรียบเหมือน เมื่อประทีบน้ำมันอันบุคคลจุดไฟอยู่ แม้น้ำมันก็บริสุทธิ์
แม้ไส้ก็บริสุทธิ์ เพราะน้ำมันและไส้บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นจึงติดไฟอย่างไม่ริบหรี่
แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิตแผ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :275 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 8. อุปักกิเลสสูตร

กสิณมีแสงสว่างบริสุทธิ์เป็นอารมณ์อยู่ ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี ถอน
ถีนมิทธะให้ดี กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เพราะระงับความชั่วหยาบทางกาย
ให้ดี ถอนถีนมิทธะให้ดี และกำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี ภิกษุนั้นจึงรุ่งเรืองอย่างไม่
ริบหรี่ หลังจากมรณภาพแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้มีรัศมีบริสุทธิ์
ท่านกัจจานะ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิดในหมู่เทพเดียวกัน
เหล่านั้น เทพบางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่เทพบางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์”
[235] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสภิยกัจจานะได้
กล่าวกับท่านพระอนุรุทธะว่า “ดีละ ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ ท่านอนุรุทธะมิได้กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘เราได้สดับมาแล้วอย่างนี้’ หรือว่า ‘ควรจะเป็นอย่างนี้’ แต่ท่าน
อนุรุทธะกล่าวว่า ‘เทพเหล่านั้นเป็นอย่างนั้นบ้าง เทพเหล่านั้นเป็นอย่างนี้บ้าง
ท่านผู้เจริญ กระผมนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านอนุรุทธะต้องเคยอยู่ร่วม
เคยเจรจา และเคยร่วมสนทนากับเทพเหล่านั้นมาเป็นแน่”
“ท่านกัจจานะ ท่านกล่าววาจานี้เป็นที่น่าเชื่อถือจริง ๆ แต่กระผมจักตอบ
ท่านบ้าง ท่านกัจจานะ กระผมเคยอยู่ร่วม เคยเจรจา และเคยร่วมสนทนากับ
เทพเหล่านั้นมานานแล้ว”
เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสภิยกัจจานะได้กล่าวกับ
ช่างไม้ปัญจกังคะว่า “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่ท่านละเหตุแห่ง
ความสงสัยนั้นเสียได้ เราทั้งสองจึงได้ฟังธรรมบรรยายนี้” ดังนี้แล

อนุรุทธสูตรที่ 7 จบ

8. อุปักกิเลสสูตร
ว่าด้วยอุปกิเลส

[236] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายในกรุงโกสัมพี เกิดความบาดหมาง เกิดการทะเลาะวิวาท
ถึงกับใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :276 }