เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 7. อนุรุทธสูตร

“คหบดี ธรรม 2 ประการนี้ คือ
1. เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้
2. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน ท่านพึงทราบความต่างกันนั้น โดย
วิธีที่ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกันโดยเหตุผลต่อไปนี้
เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ... ทิศที่ 2
... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอด
โลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มี
อุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
คหบดี นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้
[231] เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ 1 แห่งว่า
‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ 2 หรือ 3 แห่งว่า
‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน 1 แห่งว่า ‘เป็นแดน
มหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :270 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 7. อนุรุทธสูตร

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน 2 หรือ 3 แห่งว่า
‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดอาณาจักร 1 แห่งว่า ‘เป็น
แดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดอาณาจักร 2 หรือ 3 แห่งว่า
‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดปฐพีซึ่งมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต
1 แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
คหบดี โดยเหตุผลนี้ ท่านก็จะทราบความต่างกันนั้น โดยวิธีที่ธรรมเหล่านี้
มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน
[232] คหบดี การเข้าถึงภพนี้มี 4 ประการ
การเข้าถึงภพ 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างเล็กน้อยเป็นอารมณ์อยู่ หลังจากตายแล้ว
จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นปริตตาภา
2. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างหาประมาณมิได้เป็นอารมณ์อยู่ หลัง
จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นอัปปมาณาภา
3. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างเศร้าหมองเป็นอารมณ์อยู่ หลังจาก
ตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นสังกิลิฏฐาภา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :271 }