เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 7. อนุรุทธสูตร

[230] ครั้นเวลาเช้า เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระอนุรุทธะ ครองผ้า
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของช่างไม้ปัญจกังคะ แล้วนั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ลำดับนั้น ช่างไม้ปัญจกังคะถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีต
แก่ท่านพระอนุรุทธะจนอิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง พอเห็นท่านพระอนุรุทธะฉันเสร็จ
ละมือออกจากบาตรแล้ว จึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ได้กล่าว
กับท่านพระอนุรุทธะว่า
“พระคุณเจ้าผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระทั้งหลายเข้ามาหากระผมในที่นี้แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
‘คหบดี ท่านจงเจริญเจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้เถิด’ พระเถระบางรูปกล่าวอย่างนี้ว่า
‘คหบดี ท่านจงเจริญเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะเถิด’
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธรรม 2 ประการนี้ คือ
1. เจโตวิมุตติ1อันหาประมาณมิได้
2. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ2
มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน(อย่างไร) หรือว่ามีอรรถเป็นอันเดียวกัน3
ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น”
“คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละ จงทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้แจ่มแจ้ง
ท่านจะได้ปฏิบัติไม่ผิดจากเรื่องนี้”
“พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘ธรรมเหล่านี้ คือ
1. เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้
2. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 7. อนุรุทธสูตร

“คหบดี ธรรม 2 ประการนี้ คือ
1. เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้
2. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน ท่านพึงทราบความต่างกันนั้น โดย
วิธีที่ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกันโดยเหตุผลต่อไปนี้
เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ... ทิศที่ 2
... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอด
โลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มี
อุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
คหบดี นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้
[231] เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ 1 แห่งว่า
‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ 2 หรือ 3 แห่งว่า
‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน 1 แห่งว่า ‘เป็นแดน
มหัคคตะ’ อยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :270 }